วันนี้น้องปุ๋ยขยัน จะมาแชร์ความรู้ดี ๆ ให้กับพี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมัน เกี่ยวกับวิธีการสังเกต และการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับต้นกล้าปาล์มน้ำมัน พี่น้องชาวสวนปาล์มทั้งหลายจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงที
หากพี่น้องเกษตรกรท่านไหนอยากรู้แล้ว ก็อย่ารอช้า รีบตามน้องปุ๋ยขยันมารับความรู้ดี ๆ ไปพร้อม ๆ กันเล้ย!
◾️ โรคใบไหม้ (Curvularia Seeding Blight)
โรคใบไหม้ เป็นโรคสำคัญ พบมากในช่วงระยะต้นกล้าปาล์ม และพบในระยะที่ลงแปลงปลูกในช่วง 1 ปีแรก
✔ วิธีสังเกตอาการของโรค
มักพบอาการบนใบอ่อน ซึ่งส่วนมากจะเป็นช่วงที่ใบเริ่มคลี่ โดยระยะแรกจะเกิดเป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะโปร่งใส ระยะต่อมาเมื่อแผลขยายเต็มที่จะมีสีน้ำตาลแดง ขอบสีน้ำเงินเข้ม มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ แผลจะมีรูปร่างทรงกลมรี มีความยาวของแผลประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ไม่เหมาะกับการนำไปปลูก เพราะต้นกล้าเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ หากอาการรุนแรงอาจจะทำให้ใบใหม่และต้นกล้าตายได้
✔ สาเหตุของโรค
เชื้อรา Curvularia sp.
✔ การป้องกันและกำจัดโรค
▪️ แยกต้นที่มีอาการออกมาเผาทำลาย
▪️ พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ไม่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ เช่น ไทแรม 75% WP ในอัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
▪️ ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด
◾️ โรคใบจุด (Halminthosporium leaf spot)
โรคใบจุด มักพบกับต้นกล้าปาล์มน้ำมันอายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป ในช่วงที่มีสภาพอากาศแล้งจัดหรือมีความชื้นน้อย
✔ วิธีสังเกตอาการของโรค
พบบนใบอ่อนได้เช่นเดียวกัน แต่ลักษณะแผลจะเป็นจุดสีเหลืองกลมเล็ก ๆ มีขอบวงแหวนสีเหลือง ความหนาแน่นของจุดจะมีปริมาณมากกว่าโรคใบไหม้ โดยมากมักเกิดเป็นกลุ่ม ๆ และมักเกิดบริเวณปลายใบเข้ามา เมื่อมีอายุเยอะขึ้นจุดแผลสีเหลืองจะกลายเป็นจุดสีน้ำตาล เมื่ออาการรุนแรงจุดสีเหลืองจะขยายตัวรวมกัน ทำให้ใบเหลืองทั้งใบ บนปลายใบเริ่มแห้งเป็นสีน้ำตาล
✔ สาเหตุ
เชื้อรา Drechslera sp.
✔ การแพร่ระบาด
เกิดจากสปอร์ของเชื้อรา ปลิวไปตามลม และน้ำ
✔ การป้องกันและกำจัดโรค
▪️ แยกต้นที่มีอาการออกมาเผาทำลาย
▪️ ฉีดพ่นด้วยสารป้องกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ไทแรม หรือ แคปเทน ให้ทั่วทั้งต้นและใต้ใบ
◾️ โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)
โรคนี้เกิดมากในสภาพต้นกล้าที่พึ่งย้ายปลูกต้นปาล์มน้ำมันใหม่ ๆ หรือแปลงปลูกที่มีความชื้นสูง
✔ วิธีสังเกตอาการของโรค
จะมีแผลลักษณะยาวรีบนใบปาล์ม โดยแผลจะมีลักษณะสีน้ำตาลเพราะเนื้อเยื่อของพืชตาย แผลจะยุบลงเล็กน้อย ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยสีเหลือง บริเวณแผลจะมีจุดดำเล็ก ๆ เรียงเป็นวง ๆ โดยขนาดแผลจะขยายเพิ่มตามความรุนแรงหรือสภาพความชื้นที่เหมาะสม
✔ สาเหตุของโรค
เชื้อรา Collectotrichum sp.
✔ การแพร่ระบาด
สปอร์ของเชื้อรา ปลิวไปตามลม และน้ำ
✔ การป้องกันและกำจัดโรค
▪️ วางต้นกล้าให้มีระยะห่างกัน ไม่ควรวางชิดกันจนเกินไป
▪️ จัดการระบบการให้น้ำ โดยทำให้มีลักษณะเป็นฝอย ๆ ให้มากที่สุด เพราะถ้าเป็นน้ำหยดใหญ่จะทำให้เกิดแผลบนใบได้ ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าทำลาย
▪️ ป้องกันการระบาดของโรค โดยแยกต้นที่มีอาการออกมาจากแปลงปลูก
▪️ ฉีดพ่นสารป้องกำจัดโรคพืช เช่น ไทแรม หรือ แคปแทน หรือ ไทอะเบนดาโซล ทุก ๆ 10 วัน ในช่วงที่โรคระบาด
◾️ โรคบลาส (Blast)
ต้นกล้าจะเป็นโรคนี้มากในช่วงอายุ 6-8 เดือน หรือในสภาพที่ขาดน้ำ
✔ วิธีสังเกตอาการของโรค
ระยะแรกใบของต้นกล้าปาล์มน้ำมัน จะมีสีเหลืองซีด โดยเฉพาะช่วงปลายใบจะมีลักษณะด้านคือไม่มีความมัน ต่อมาสีของไม้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวมะกอก ปลายใบจะแห้งเปลี่ยนเป็นสีม่วงน้ำตาล ต่อมาจะลุกลามทั้งใบจนเนื้อเยื่อของใบตาย อาการมักเริ่มจากใบล่างลุกลามขึ้นไปยังใบยอด บางครั้งจะพบอาการยอดเน่า เมื่อมีอาการรุนแรงต้นกล้าปาล์มจะแห้งตายภายใน 2-3 วัน
✔ สาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia lamellifera และ Pythium splendens
✔ การแพร่ระบาด
สาเหตุการมีหลายปัจจัย เช่น ความแข็งแรงของต้นกล้า การให้ร่มเงา การให้น้ำ แมลงพาหะของโรค อย่างเช่น เพลี้ยจักจั่น ซึ่งอาศัยอยู่บนวัชพืชในแปลงปลูกปาล์ม
✔ การป้องกันและกำจัดโรค
▪️ แปลงเพาะควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือควรให้น้ำปาล์มน้ำมันอย่างเพียงพอ
▪️ ลดอุณหภูมิของดิน รักษาความชื้นในดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
▪️ ควรกำจัดวัชพืชออกโดยใช้สารเคมี aldicarb (temik) จำนวน 2 กรัม/ต้น/เดือน ในบริเวณที่มีแมลงพาหะของโรคอาศัยอยู่
▪️ ใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อบำรุงต้นกล้าให้แข็งแรง
*หมายเหตุ : โรคบลาส แตกต่างจากโรครากเน่าในปาล์มน้ำมัน เมื่อถอนรากดูจะพบว่าชั้น cortex ถูกทำลายจึงสามารถดึงรากหลุดออกได้ง่าย การเน่าของรากจะลุกลามขึ้นไปจนถึงเนื้อเยื่อของต้น แต่ไม่เข้าทำลายส่วนสำคัญของลำต้นปาล์ม
ขอบคุณข้อมูลจาก : ซีพีไอ อะโกรเทค
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #ปาล์มน้ำมัน #โรคที่เกิดในต้นกล้าปาล์มน้ำมัน #ปัญหากล้าปาล์มน้ำมัน #ชาวสวนปาล์มน้ำมัน #เกษตรกรชาวสวนปาล์ม