เฝ้าระวัง!! #หนอนด้วงหนวดยาว ศัตรูตัวร้าย ที่พี่น้องชาวไร่อ้อยไม่ควรละเลย! เรามาทำความรู้จัก พร้อมรับมือด้วยวิธีแบบนี้กันดีกว่า!!
#รู้จักหนอนด้วงหนวดยาว
ด้วงหนวดยาว จัดเป็นแมลงศัตรูอ้อยที่สำคัญต่อการปลูกอ้อย โดยสามารถเข้าทำลายอ้อยตั้งแต่ระยะเริ่มปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยหนอนของด้วงหนวดยาวจะเข้าไปในส่วนของลำต้นอ้อยที่อยู่ใต้ดิน ทำให้อ้อยแห้งตาย ในอ้อยปลูกหากพบด้วงหนวดยาวเข้าทำลายจะส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลง 13-43% และน้ำตาลลดลง 11-46% ส่วนอ้อยตอปีที่ 1 จะสูญเสียผลผลิตประมาณ 45% และน้ำตาลลดลง 57%
#การแพร่ระบาด
มักพบระบาดมากในดินร่วมปนทรายที่มีค่า pH 6.9 ดินมีอินทรียวัตถุ 1.15-1.22% แมลงชนิดนี้ทำความเสียหายให้แก่อ้อยได้มากกว่าแมลงนูนหลวง เพราะมักแพร่กระจายไปทั่วไร่อ้อยที่ถูกทำลายในบริเวณกว้างขวาง
#ลักษณะการเข้าทำลาย
หนอนเริ่มเข้าทำลายอ้อยตั้งแต่ระยะท่อนพันธุ์ โดยเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ มีผลทำให้ท่อนพันธุ์อ้อยไม่งอก หน่ออ้อยอายุ 1-3 เดือน จะถูกกัดตรงส่วนโคนที่ติดกับเหง้าให้ขาดออกทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย เมื่ออ้อยโตเป็นลำอาการเริ่มแรกพบว่า กาบใบและใบอ้อยแห้งมากกว่าปกติ ตั้งแต่ใบล่างขึ้นไปจนแห้งตายไปทั้งต้นหรือทั้งกออ้อย ขณะที่หนอนยังเล็กจะกัดกินอยู่ตรงบริเวณเหง้าอ้อย ซึ่งมีผลทำให้การส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง เมื่อหนอนโตขึ้นขนาดยาวประมาณ 40 มม. ก็จะเริ่มเจาะไชจากส่วนโคนลำต้นอ้อยขึ้นไปเพื่อกินเนื้ออ้อยจนบางครั้งทำให้ลำต้นอ้อยเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก บางต้นหนอนเจาะสูงขึ้นไปจากส่วนโคนถึง 40 ซม. จนทำให้ลำต้นอ้อยหักล้มและแห้งตาย
#แนวทางการป้องกันกำจัด
◾️อ้อยปลูกใหม่
1. ไถพรวนดินแล้วเก็บตัวหนอนของด้วงหนวดยาวอ้อยตามรอยไถ ก่อนปลูกอ้อย
2. ใช้ศัตรูธรรมชาติ โดยโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กก./ไร่ บนท่อนพันธุ์พร้อมปลูกแล้วกลบดิน
3. ใช้สารเคมีในพื้นที่ที่มีการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อยอย่างรุนแรง
- ใช้สารเคมีชนิดน้ำ ได้แก่ ฟิโพรนิล 5% EC อัตรา 80 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ อัตรา 320 มล./ไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน
- ใช้สารเคมีชนิดเม็ด ได้แก่ โรยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 0.3% G อัตรา 6 กก./ไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน
◾️ระยะอ้อยแตกกอ
1. ถ้าพบหน่ออ้อยแห้งตาย ให้ขุดกออ้อยและจับตัวหนอนด้วงหนวดยาวอ้อย ออกมาทำลายนอกแปลง
2. ใช้ศัตรูธรรมชาติ โดยเปิดร่องอ้อยแล้วโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กก./ไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
3. ใช้สารเคมีในพื้นที่ที่มีการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อยอย่างรุนแรง
- ใช้สารเคมีชนิดน้ำ โดยเปิดร่องอ้อยแล้วพ่นสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 80 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ อัตรา 320 มล./ไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
- ใช้สารเคมีชนิดเม็ด โดยเปิดร่องอ้อยแล้วโรยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 0.3% G อัตรา 6 กก./ไร่ ให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน
*หมายเหตุ กรณีการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม และสารเคมี ขณะใช้ดินต้องมีความชื้นหรือเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #อ้อย #ปุ๋ยอ้อย #การปลูกอ้อย #ปลูกอ้อย #พันธุ์อ้อย #เครื่องปลูกอ้อย #เครื่องตัดอ้อย #ปลูกอ้อยคั้นน้ำ #ปลูกอ้อยหลุม #ปุ๋ยอ้อย #ปุ๋ยใส่อ้อย #ปุ๋ยใส่อ้อยใช้สูตรอะไร #ด้วงหนวดยาวอ้อย #หนอนด้วงหนวดยาว