ไขข้อสงสัย ปาล์มขาดคอ คืออะไร  แก้ไขอย่างไรดี??

ไขข้อสงสัย ปาล์มขาดคอ คืออะไร แก้ไขอย่างไรดี??


สวัสดีพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มทุกท่านครับ... เชื่อว่ามีพี่น้องหลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือพบเจอปัญหา “ปาล์มขาดคอ” กันมาบ้าง วันนี้น้องปุ๋ยขยันจะขอพาพี่ ๆ ไปเจาะลึกว่า ปัญหาปาล์มขาดคอคืออะไร และมีวิธีการแก้ไขอย่างไรให้ทุกคนได้ทราบกันครับ 

 

◼️ ปาล์มขาดคอคืออะไร 

ปาล์มขาดคอ คือ สภาวะที่ต้นปาล์มไม่มีผลผลิต ไม่มีทะลาย ผลผลิตขาดช่วง ซึ่งธรรมชาติของปาล์มแล้วเป็นพืชสมบูรณ์เพศ แต่จะกำหนดเพศได้เพียงเพศเดียวในกาบใบ 1 ใบ ดังนั้นปาล์มที่ขาดคอจึงเป็นปาล์มที่ออกช่อดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย ส่งผลให้เมื่อดอกบาน จึงเต็มไปด้วยดอกตัวผู้ไม่ใช่ดอกตัวเมียที่จะกลายเป็นผลผลิตนั่นเอง

 

◼️ อาการปาล์มขาดคอ

ปาล์มออกช่อดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย จนทำให้ปาล์มไม่เกิดการติดลูก 

 

◼️ สาเหตุปาล์มขาดคอ

1. สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น แล้งจัด หนาวจัด ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ดินเสื่อมโทรม และน้ำท่วมขัง เป็นต้น 

2. ขาดการดูแลปาล์ม เช่น การให้ปุ๋ยที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือสัดส่วนธาตุอาหารไม่เหมาะสมกับปาล์ม รวมถึงการจัดการโรค แมลง และวัชพืชได้ไม่ดีพอ 

 

เมื่อทราบถึงปัญหากันแล้ว น้องปุ๋ยขยันจะมาแนะนำวิธีการแก้ไขเบื้องต้น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ทราบและจัดการปัญหาได้ตรงจุด ผลผลิตจะได้ออกมาดีมีคุณภาพกันนะครับ


◼️ แนวทางแก้ไขปัญหาปาล์มขาดคอ

✔ การใช้พืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการชะล้างของหน้าดินและเพิ่มความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ซึ่งอาจเป็นการปลูกพืชตะกูลถั่ว หรือนำทะลายเปล่าปาล์มมาคลุมโคนในอัตรา 30 กก./ต้น ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี สามารถเพิ่มผลผลิตในปีที่ต่อ ๆ ไปได้สูงกว่าการไม่คลุมโคน 11-36% เลยทีเดียว

 

✔ การวางทางใบที่เหมาะสม ในการเก็บเกี่ยวทะลายจำเป็นต้องมีการตัดทางใบด้านล่างออก เพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว นอกจากนั้นในรอบปีจะมีช่วงแล้งที่ปาล์มไม่ให้ทะลาย แต่ยังคงมีการสร้างทางใบตามปกติซึ่งทางใบเหล่านี้จะต้องตัดออก ในอดีตเกษตรกรมักจะเรียงทางใบกองเป็นแถวยาวระหว่างแถวปาล์ม ซึ่งการวางในแบบดังกล่าวจะทำให้มีการย่อยสลายยากและเป็นที่อาศัยของหนูซึ่งจะมาทำลายผลผลิต 

▪️ สำหรับการวางทางใบที่ถูกต้องสำหรับสวนปาล์มที่เป็นพื้นที่ราบ ควรวางกระจายทั้งแปลงเพื่อง่ายต่อการย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และยังช่วยรักษาความชื้น ลดการชะล้างของหน้าดิน และเป็นการควบคุมวัชพืชได้อีกวิธีหนึ่ง ในการวางทางใบให้ตัดส่วนของโคนทางซึ่งมีหนามวางกองระหว่างต้น ส่วนทางใบ (ซึ่งตัดโคนทางออกแล้ว) ให้วางกระจายทั่วทั้งสวน โดยเว้นพื้นที่รอบโคนต้นรัศมี 1-2 เมตร เพื่อความสะดวกในการเก็บผลปาล์มร่วง 

▪️ สำหรับสวนปาล์มที่ปลูกในพื้นที่ลาดชันจำเป็นต้องวางทางใบเป็นแนวขวางการไหลของน้ำ เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดจากการชะล้าง การปูทางใบนอกจากจะช่วยรักษาความชื้นและลดการชะล้างแล้ว ทางใบยังมีธาตุอาหารให้กับปาล์มอีกด้วย

 

✔ การจัดการธาตุอาหารในสวนปาล์ม ทราบหรือไม่ครับว่าธาตุอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อปาล์มมีด้วยกัน 5 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โพแทสเซียม (K), แมกนีเซียม (Mg) และโบรอน (B) โดยน้องปุ๋ยขยันจะบอกถึงความสำคัญคร่าว ๆ ของธาตุอาหารเหล่านี้ให้พี่น้องเกษตรกรได้ทราบกันนะครับ

▪️ ไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญขององค์ประกอบอินทรีย์ เช่น กรดอะมิโน, โปรตีน, คลอโรฟิลล์ และเอนไซม์ต่าง ๆ มีความสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน

▪️ ฟอสฟอรัส เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสารประกอบที่ให้พลังงานกับพืช (ADP และ ATP) และ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกรดนิวคลีอิค (DNA และ RNA) หากปาล์มขาดฟอสฟอรัส จะทำให้อัตราการสร้างทางใบช้าลง ทางใบสั้น นอกจากนั้นฟอสฟอรัสยังมีความจำเป็นในการสร้างราก ซึ่งจำเป็นมากสำหรับปาล์มที่เพิ่งปลูก

▪️ โพแทสเซียม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเอนไซม์ในกระบวนการสังเคราะห์แป้ง โปรตีน และไขมัน ช่วยในกระบวนการปิด-เปิดของปากใบ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพลังงานจากแสงเป็นพลังงานทางชีวเคมี ในการสังเคราะห์แสง

▪️ แมกนีเซียม เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นรงควัตถุสีเขียวในพืช ที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ในกระบวนการที่ต้องใช้พลังงาน เช่น การสร้างแป้ง การสร้างโปรตีน การเคลื่อนย้ายธาตุอาหารจากใบไปยังผลปาล์ม รวมถึงการสร้างน้ำมันในผลปาล์ม

▪️ โบรอน มีความสำคัญในการสร้างผนังเซลล์ของพืช เร่งการเจริญเติบโต และการพัฒนาของเนื้อเยื่อ รวมถึงการสร้างท่อละอองเกสร มีความสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แป้งและโปรตีน


 

✔ การจัดการให้น้ำ ปาล์มเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนสูง (ประมาณ 2,500-3,500 มิลลิเมตร/ปี) และมีช่วงแล้ง (เดือนที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 100 มิลลิเมตร) ไม่เกิน 3 เดือน โดยปริมาณน้ำฝนขนาดนี้หลัก ๆ จะอยู่ในแถบประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ คอสตาริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาพันธุ์ปาล์มและส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทย แต่เมื่อพันธุ์ปาล์มเหล่านี้ถูกนำมาปลูกในประเทศไทย ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า และมีช่วงแล้งที่ยาวนานเกินกว่า 3 เดือน ทำให้พันธุ์ปาล์มเมื่อพบกับผลกระทบแล้ง จะเกิดอาการมีรอยช่อดอกตัวผู้ขาดคอ ไม่มีช่อดอก ช่อดอกเน่า ขนาดทะลายเล็ก ระบบรากไม่พัฒนา ซึ่งลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ได้ผลผลิตลดลง ผลผลิตไม่ตรงตามลักษณะพันธุ์ของประเทศผู้ผลิต อันเนื่องมาจากความแตกต่างของสภาพแวดล้อม โดยปาล์มต้องการน้ำทั้งปีเนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อเนื่อง ดังนั้น การให้น้ำตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรคือ 3-5 มิลลิเมตร/ต้น/วัน ในช่วงแล้งระบบที่เหมาะสมคือ มินิสปริงเกอร์ เนื่องจากช่วยเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์และช่วยลดอุณหภูมิได้

 

และนี่ก็คือวิธีการจัดการและดูแลสวนปาล์มที่น้องปุ๋ยขยันนำมาฝาก หวังว่าพี่น้องเกษตรกรจะสามารถนำไปปรับใช้จนได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพนะครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

 

สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer

 

#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #ปาล์ม #ปาล์มน้ำมัน #พันธุ์ปาล์ม #ปุ๋ยปาล์ม #สูตรผสมปุ๋ยปาล์มน้ำมัน #ตารางการใส่ปุ๋ยปาล์ม #สูตรปุ๋ยปาล์ม #สูตรปุ๋ยปาล์มน้ำมัน #สูตรใส่ปุ๋ยปาล์ม #ใส่ปุ๋ยปาล์ม #ปุ๋ยใส่ปาล์ม #การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน #การปลูกปาล์มน้ำมัน #ปุ๋ยปาล์มก่อนให้ผลผลิต #ปุ๋ยปาล์มช่วงให้ผลผลิต #ปาล์มขาดคอ