ฝนชุกต้องระวัง!! โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ไม่อยากวิงเวียน รีบจัดการแบบนี้!!

ฝนชุกต้องระวัง!! โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ไม่อยากวิงเวียน รีบจัดการแบบนี้!!


ช่วงนี้ฝนชุก... พี่น้องเกษตรกรต้องระวัง!! “โรครากเน่าโคนเน่า” ในทุเรียน ไม่อยากวิงเวียน เพราะผลผลิตเสียหาย รีบมาจัดการแบบนี้กันดีกว่า!!

 

#สาเหตุและต้นตอของโรค

โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา (Phytophthora palmivora) ที่มักจะระบาดมากในช่วงที่ฝนตกชุก หรือช่วงที่มีความชื้นในอากาศค่อนข้างสูง ซึ่งเชื้อเข้าทำลายได้ทั้งลำต้น ระบบราก ลำต้นบริเวณคอดิน กิ่ง ใบ ปลายยอด และผล หากไม่มีการป้องกันที่ดีจะส่งผลให้ทุเรียนยืนต้นตายได้

 

#ลักษณะอาการของโรค

◾️ ใบทุเรียนจะไม่เป็นมันสดเหมือนใบทุเรียนปกติ ต่อมาใบล่าง ๆ จะเริ่มเป็นจุดเหลือง แล้วค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลืองซีดในที่สุด จากนั้นใบจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป ลำต้นทรุดโทรมแล้วตายไปในที่สุด

◾️ อาการเน่าที่โคนต้นหรือกิ่ง จะสังเกตเห็นผิวเปลือกของลำต้นหรือกิ่งคล้ายมีคราบน้ำเกาะติด ในช่วงเช้าที่มีอากาศชุ่มชื้นจะมองเห็นหยดน้ำยางสีน้ำตาลแดงไหลปูดออกมาจากรอยแผลแตกของลำต้นหรือกิ่ง ในช่วงกลางวันที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบน้ำจับบนเปลือกของลำต้น เมื่อเปิดเปลือกของลำต้นบริเวณที่มีคราบน้ำยางออกบาง ๆ ด้วยมีด จะเห็นเนื้อเยื่อเปลือกที่ถูกทำลายมีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้ม 

◾️ อาการเน่าที่เกิดกับรากเล็กหรือรากฝอยนั้น เนื้อเยื่อรากจะเปื่อยยุ่ย เมื่อดึงเบา ๆ จะขาดออกจากกันได้ง่าย

 

#การแพร่ระบาดของโรค

โรครากเน่าโคนเน่าจะระบาดรุนแรงในฤดูฝน ซึ่งสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง จะเหมาะกับการแพร่กระจายและเข้าทำลายต้นทุเรียน ซึ่งเชื้อราไฟทอปธอราสามารถแพร่กระจายได้ทั้งทางดิน ทางน้ำ และลม หรือติดไปกับเครื่องมือการเกษตร นอกจากนี้สภาพดินที่เป็นกรดยังส่งเสริมให้เชื้อราไฟทอปธอราเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย

 

#วิธีป้องกันกำจัดโรค

◾️ ติดตามสถานการณ์โรครากเน่าโคนเน่า โดยสำรวจทุกต้น 7 วันต่อครั้ง 

◾️ ปรับปรุงดินโดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด - ด่าง ประมาณ 6.5 กรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาว หรือโดโลไมท์ อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ 

◾️ จัดทำร่องระบายน้ำในบริเวณสวนที่มีพื้นที่ต่ำเพื่อไม่ให้มีน้ำท่วมขัง

◾️ ตัดแต่งต้นทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว โดยตัดแต่งกิ่งให้ต้นทุเรียนมีรูปทรงที่สมบูรณ์และโปร่งพอที่จะรับแสงแดดได้ทั่วถึงบริเวณโคนต้น 

◾️ ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง 

◾️ ลดปริมาณของเชื้อราที่อยู่ในดินโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมกับรำข้าว 4 กิโลกรัมและปุ๋ยคอก 100 กิโลกรัม ให้เข้ากัน แล้วนำไปหว่านบริเวณทรงพุ่มรอบทรงต้นที่มีรากฝอยอยู่ ในอัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร 

◾️ หากพบอาการของโรคเพียงเล็กน้อยที่ลำต้นหรือกิ่งแขนงใหญ่ ให้ขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกและนำไปเผาทำลาย แล้วทาแผลด้วยปูนแดงหรือสารกำจัดโรคพืช แมทาแลคซิล หากอาการรุนแรงให้ใช้ฟอสฟอรัส 40% ฉีดเข้าลำต้นหรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค หรือฉีดเข้าลำต้นเหนือระดับดิน 

 

#คำแนะนำเพิ่มเติมจากน้องปุ๋ยขยัน

ห้ามนำกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรคไปทิ้งลงในแม่น้ำ ลำคลอง เพราะจะทำให้เชื้อราไฟทอปธอรากระจายออกไปสู่พื้นที่ในวงกว้าง ควรนำมาเผาทำลายให้หมด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต, กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด, เว็บไซต์เกษตรโก และเว็บไซต์ Ifarm

 

สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer


#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #โรครากเน่าโคนเน่า #ปัญหารากเน่าโคนเน่าในทุเรียน #รับมือปัญหารากเน่าโคนเน่า #ปัญหาชาวสวนทุเรียน #ทุเรียน #โรคในทุเรียน