น้องปุ๋ยขยันขอแชร์!!  เทคนิคเก็บเกี่ยวข้าวให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี มีกำไร!!

น้องปุ๋ยขยันขอแชร์!! เทคนิคเก็บเกี่ยวข้าวให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี มีกำไร!!


พี่น้องเกษตรกรเคยประสบปัญหา “เก็บเกี่ยวข้าวไม่ทันตามกำหนด” มั้ยครับ? ฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ทราบมั้ยครับว่า แค่เก็บเกี่ยวไม่ถูกวิธี... ก็ทำให้รายได้หายไปเป็นกอง!! 

 

เพราะ “การเก็บเกี่ยวข้าวไม่ทันตามกำหนด” ส่งผลให้ข้าวมีผลผลิตน้อย คุณภาพต่ำ ข้าวแห้งเมล็ดลีบ ยิ่งเวลาเก็บเกี่ยวข้าวจะร่วงหล่นลงพื้นได้ง่าย ทำให้กำไรที่ควรจะได้ยิ่งหายไปกันใหญ่

 

เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากข้าวทุกเมล็ดมากที่สุด น้องปุ๋ยขยันมีเทคนิค “การเก็บเกี่ยวข้าวให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี” มาฝาก!  ถ้าอยากทราบแล้วมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันเลยครับ!


#สิ่งที่ควรปฏิบัติก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว

✔ ตรวจแปลงนาระยะข้าวเริ่มออกรวง หากพบรวงโผล่พ้นจากใบธงประมาณ 80% ของแปลง ให้กำหนดเป็นวันออกดอก
✔ 21 วันหลังวันออกดอก ระบายน้ำออกจากแปลงนา
✔ 28-30 วัน หลังวันออกดอก กำหนดเป็นวันเก็บเกี่ยว

 

หมายเหตุ : อายุเก็บเกี่ยวอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศและสายพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


#ระยะที่ควรเก็บเกี่ยวข้าว

ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ 28-30 วัน หลังข้าวออกดอก หรือที่เรียกว่า “ระยะพลับพลึง” ซึ่งการเก็บเกี่ยวในระยะนี้ จะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพการสีดี ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วหรือช้าเกินไปมีผลต่อคุณภาพเมล็ด คือ

 

◾️ การเก็บเกี่ยวเร็วเกินไป
1. เมล็ดข้าวน้ำหนักเบา การสะสมแป้งไม่เต็มที่
2. ข้าวมีความชื้นสูง ถ้าลดความชื้นล่าช้า ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ มีจุลินทรีย์เข้าทำลาย
3. คุณภาพการสีต่ำ ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวต่ำ เมล็ดยังเขียว อ่อน มีข้าวหักและป่น

 

◾️ การเก็บเกี่ยวช้าเกินไป
1. สูญเสียผลผลิตข้าว เพราะข้าวแห้งกรอบ ร่วงหล่นในนา
2. นก หนู และแมลง เข้าทำลาย
3. คุณภาพการสีต่ำ ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวต่ำ เพราะเมล็ดกรอบและมีรอยแตกร้าว
4. กรณีรวงข้าวแช่น้ำ ทำให้เกิดเมล็ดงอก


#วิธีการเก็บเกี่ยวข้าว

1. เก็บเกี่ยวโดยแรงงานคน : ใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวนาน ขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างสูง

2. เก็บเกี่ยวโดยเครื่องเกี่ยวนวด : ใช้เวลาเก็บเกี่ยวเร็ว แต่ข้าวมีความชื้นสูงประมาณ 25-30% ซึ่งเกินระดับความชื้นมาตรฐาน


#วิธีลดความชื้นข้าว

ข้าวที่เก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม เมื่อนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน จะมีความชื้นประมาณ 20-25% เนื่องจากเมล็ดมีการหายใจ จะทำให้กองข้าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ต่าง ๆ ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ เช่น เกิดข้าวเน่า ข้าวบูด ข้าวเหลือง ข้าวมีคุณภาพการสีต่ำ เมล็ดพันธุ์เสื่อมความงอกเร็ว จึงต้องทำการลดความชื้นของเมล็ดข้าวให้เหลือประมาณ 14% สำหรับการเก็บข้าวไว้นาน 2-3 เดือน แต่ถ้าเก็บนานเกินกว่า 3 เดือน ควรลดความชื้นเมล็ดให้เหลือต่ำกว่า 12% ซึ่งการลดความชื้น สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ 

 

1. การใช้แสงอาทิตย์ : เป็นการใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ ช่วยพาความชื้นออกจากเมล็ดข้าว ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ประหยัด ไม่ยุ่งยาก แต่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของแรงงาน พื้นที่ในการตาก และการควบคุมคุณภาพของข้าวได้

 

สำหรับพี่น้องเกษตรกรคนไหนสะดวกลดความชื้นข้าว ด้วยวิธีการตากแดดบนลาน น้องปุ๋ยขยันมีข้อควรปฏิบัติแนะนำ ดังนี้

 

▪️ ทำความสะอาดลานตาก ควรมีวัสดุสะอาดและแห้งรองรับเมล็ด เพราะหากตากกับพื้นซีเมนต์หรือถนนโดยตรง เมล็ดอาจได้รับความร้อนสูงเกินไป

▪️ ตากข้าวหนา 5-10 เซนติเมตร เพราะหากตากหนาเกินไป การระบายอากาศทำได้ไม่ดี จะทำให้ข้าวแห้งช้า และหากตากบางเกินไป ทำให้อุณหภูมิข้าวสูงมีผลต่อความงอกของข้าวได้ (หมั่นกลับกองข้าวทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือวันละ 4 ครั้ง เพื่อให้ลดความชื้นได้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ)

▪️ ควรมีวัสดุคลุมกองข้าวในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันน้ำค้างหรือฝนตก

▪️ ไม่ควรตากข้าวนานเกินไป ถ้าแดดดี ตาก 1-2 แดด ก็สามารถเก็บเอาไปขายได้แล้ว (โดยทั่วไป หากความชื้นลดลงเหลือประมาณ 12-14% ก็หยุดตากได้แล้ว)

▪️ เลือกสถานที่ตากข้าวที่ปลอดภัยทั้งเราและคนอื่น ๆ เช่น ลานขนาดใหญ่ เป็นต้น

 

2. การใช้เครื่องอบ : วิธีนี้มีข้อดีคือ สามารถทำได้ในทุกสภาวะ ไม่ว่าจะฝนตกหรือมีแดดน้อย อีกทั้งยังใช้พื้นที่ไม่มาก สามารถควบคุมการลดความชื้นและคุณภาพของข้าวให้อยู่ในระดับตามที่ต้องการได้ แต่มีข้อจำกัดคือ มีค่าใช้จ่ายที่สูง


#วิธีการเก็บรักษาข้าว

1. การเก็บในสภาพปกติ หมายถึง การเก็บข้าวไว้ในโรงเก็บปกติที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเก็บ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันอยู่เป็นส่วนใหญ่ เพราะมีการลงทุนน้อย และเสียค่าใช้จ่ายต่ำ แต่โอกาสที่จะเกิดความเสียหายในระหว่างการเก็บรักษามีสูง เช่น การเก็บในโรงเก็บหรือยุ้งฉางของเกษตรกร โรงสีหรือโกดังส่งออกข้าวขนาดใหญ่ ๆ

 

2. การเก็บในสภาพที่มีการควบคุมอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว เช่น การเก็บข้าวไว้ในตู้แช่ ตู้เย็น หรือในไซโลเก็บข้าวที่มีการเป่าลมเย็น เป็นต้น การเก็บในสภาพที่มีอุณหภูมิต่ำ ช่วยชะลอการสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากการเข้าทำลายของแมลงลดลง และการหายใจของเมล็ดน้อยลง

 

3. การเก็บในสภาพที่มีการควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ ได้แก่ การเก็บข้าวไว้ในภาชนะเก็บที่มิดชิด สามารถป้องกันการเคลื่อนที่ผ่านเข้าออกของอากาศได้ เช่น การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในปี๊บสังกะสี หรือ Polyethylene bags เป็นต้น การเก็บข้าวในสภาพปิดเช่นนี้ ความชื้นของข้าวจะเป็นตัวกำหนดความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศภายในภาชนะที่เก็บ ถ้าความชื้นของข้าวต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์ภายในภาชนะบรรจุก็จะต่ำ ข้าวที่เก็บจะเกิดความเสียหายน้อย ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ของข้าวสูง ความชื้นสัมพัทธ์ภายในภาชนะบรรจุก็จะสูง ข้าวที่เก็บจะเกิดความเสียหายสูง ดังนั้น การเก็บรักษาข้าวด้วยวิธีนี้ ข้าวควรมีความชื้นก่อนเก็บต่ำ ทั้งนี้ขึ้นกับระยะเวลาที่ต้องการเก็บรักษา อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปความชื้นไม่ควรเกิน 10% วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดี และมีค่าใช้จ่ายต่ำ

 

4. การเก็บในสภาพที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ วิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด สามารถป้องกันและลดความเสียหายของข้าวได้ดี เก็บรักษาข้าวให้คงคุณภาพดีได้เป็นเวลานาน แต่มีการลงทุน และเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง


 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กองวิจัยและพัฒนาข้าว และสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

 

สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer

 

#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #พันธุ์ข้าว #พันธุ์ข้าวนาปรัง #ข้าวหอมมะลิ105 #ข้าวกข43 #วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวให้ได้ผลผลิตสูง #วิธีการใส่ปุ๋ยข้าว3ครั้ง #การใส่ปุ๋ยข้าว #ปุ๋ยใส่ข้าว #ปุ๋ยข้าว #ข้าวตั้งท้องใส่ปุ๋ยสูตรไหน #วิธีเก็บเกี่ยวข้าว #วิธีลดความชื้นข้าว #วิธีเก็บรักษาข้าว #ปลูกข้าว