ดินดานคืออะไร? แก้ปัญหาได้อย่างไร? ไปดูพร้อม ๆ กันเลยครับ
วันนี้น้องปุ๋ยขยันจะมาแนะนำให้พี่น้องรู้จักกับ “ปัญหาชั้นดินดาน” ว่าคืออะไร รวมถึงจะมาบอกต่อถึงวิธีเบื้องต้นในการแก้ปัญหาชั้นดินดาน ให้พี่น้องเกษตรกรได้ทราบกันครับ ตามไปดูได้เล้ยย
#ดินดานคืออะไร
◾️ดินดานคือชั้นดินที่อัดตัวแน่นทึบ และแข็งเป็นแนวขนานกับหน้าดิน มีความลึกแตกต่างกันไปจนทำให้กลายเป็นอุปสรรคต่อการชอนไชของรากพืช การไหลซึมของน้ำและการถ่ายเทอากาศ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช
#สาเหตุของการเกิดชั้นดินดาน
◾️สาเหตุของการเกิดชั้นดินดาน อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยเกิดจากการสะสมดินเหนียว หรือเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเขตกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยมีการไถพรวนที่ระดับความลึกเดิม การไถพรวนในขณะที่ดินมีความชื้นสูง การไถพรวนติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ลงไปเหยียบย่ำในแปลง ขาดการปรับปรุงบำรุงดิน
#ประเภทของชั้นดินดาน
◾️ ชั้นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชั้นดานประเภทนี้เป็นชั้นดานที่มีสารเชื่อมแข็ง โดยมีสารเชื่อมจาก เหล็ก อินทรียวัตถุ คาร์บอเนตหรือซิลิกา ชั้นดานดินเหนียว ชั้นหินทรายแป้งผุหรือชั้นหินพื้น
◾️การใช้ที่ดินไม่เหมาะสม ชั้นดานประเภทนี้ เกิดจากการอัดแน่นของเนื้อดินจากการไถพรวนด้วยเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ในภาวะความชื้นที่ดินเปียกแฉะเกินไปที่ระดับความลึกเดียวเป็นประจำ
#ผลเสียจากปัญหาดินดาน
◾️พืชเจริญเติบโตผิดปกติ : พืชที่ปลูกในดินที่มีชั้นดานนั้นจะมีระบบรากตื้น ๆ อยู่เหนือชั้นดาน ทำให้พืชดูดกินธาตุอาหารและน้ำได้น้อย เกิดการแคระแกร็น เน่าเสีย ผลผลิตลดลง จึงต้องใช้ปุ๋ยมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตดี และเมื่อฝนทิ้งช่วงพืชก็จะเหี่ยวและตายเร็วกว่าปกติเนื่องจากขาดแคลนน้ำ
◾️ การชะล้างพังทลายของดิน : ดินที่แน่นทึบทำให้น้ำไม่สามารถซึมลงไปในดินได้ลึก เมื่อฝนตกหนักจึงเกิดการไหลบ่าชะล้างเอาผิวหน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงและชะล้างปุ๋ยออกไป ขณะเดียวกันก็ทำให้พืชขาดแคลนน้ำเมื่อเกิดภาวะฝนแล้ง เมื่อฝนตกดินที่อัดตัวแน่นและดินที่เป็นดานก็จะทำให้ดินอิ่มตัวได้ง่าย น้ำฝนไม่สามารถที่จะไหลลงสู่ดินชั้นล่างได้ ก็จะไหลบ่าบริเวณผิวดินไปสู่ที่ต่ำได้อย่างรวดเร็ว เมื่อน้ำมากขึ้นก็ไหลแรงขึ้น ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินมากขึ้น
◾️ เกิดชั้นน้ำใต้ดินชั่วคราว : ชั้นดานแข็งเมื่อเกิดขึ้นใต้ชั้นไถพรวนจะเป็นชั้นที่มีความพรุนต่ำประกอบด้วยช่องขนาดเล็ก ชั้นดานแข็งจะยับยั้งการไหลซึมหรือการซาบซึม (Percolation) ของน้ำโดยทำให้เกิดชั้นน้ำใต้ดินชั่วคราว (Perched water table) ขึ้นในฤดูฝนซึ่งเป็นระดับน้ำใต้ดินเทียม (Perched) โดยมีชั้นหินหรือชั้นดินแน่นทึบรองรับอยู่ในชั้นที่น้ำไหลซึมผ่านได้เป็นบริเวณเล็ก ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบรากของพืชจะทำให้รากของพืชขาดอากาศในการหายใจ การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ส่งผลให้ขบวนการเมตาบอลิซึมของพืชเกิดขึ้นช้าลงด้วย ถ้าพืชขาดอากาศหายใจเพียงระยะเวลาสั้น ก็จะมีผลทำให้ผลผลิตของพืชลดลงได้เช่นกัน
#คำแนะนำเบื้องต้นจากน้องปุ๋ยขยัน
◾️ การปลูกพืชทำลายชั้นดาน : พืชหลายชนิดมีระบบรากที่แข็งแรง สามารถเติบโตไชชอนผ่านชั้นดานที่พืชทั่วไปไม่สามารถทำได้ พืชเหล่านี้ได้แก่ หญ้าบาเฮีย (Bahiagrass) หญ้าแฝก (Vetiver Grass)
◾️การควบคุมการใช้เครื่องจักรกล : ปัญหาการเกิดชั้นดานในดินล่างอาจลดลงได้ หากมีการใช้เครื่องจักรกลน้อยลง และในขณะที่ดินไม่ชื้นเกินไป โดยเฉพาะการควบคุมเครื่องจักรกลในการไถพรวนดิน กำจัดวัชพืช การให้น้ำและเก็บเกี่ยวผลผลิตของพืช
◾️ การไถระเบิดดินดาน : การไถระเบิดชั้นดานทำได้โดยการไถด้วยไถที่มีลักษณะพิเศษ ที่สามารถเจาะและทำให้ดินชั้นดานแตกกระจายได้ คือ ไถลึก (Deep plowing) หรือไถทำลายดินดาน (Subsoiling) ควรไถที่ระดับความลึกประมาณ 75 เซนติเมตร โดยระยะห่างร้อยละ 50 เซนติเมตร การไถตัดดานจะให้ผลเต็มที่ก็ต่อเมื่อทำการไถขณะที่ดินมีชั้นดานค่อนข้างแห้ง
◾️ การควบคุมความชื้นดิน : ชั้นดานในดินล่างจะแข็งจนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการแพร่กระจายของรากพืชก็ต่อเมื่อแห้งถึงระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีความชื้นพอเหมาะรากพืชทั่วไปก็สามารถไชชอนเข้าไปในชั้นดานได้มากขึ้น ดังนั้น การรักษาความชื้นในดินชั้นดานให้พอเหมาะจึงสามารถลดผลกระทบของชั้นดานต่อการแพร่กระจายของรากพืชได้ระดับหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการจัดการดินเสื่อมโทรม กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #ดินดาน #ปัญหาดินดาน #แก้ดินดาน #จัดการดินดาน #ดินไม่ดี #ดินเสื่อมโทรม