โรคถอดฝักดาบข้าว รู้ไว้.. อย่าปล่อยให้โต!!

โรคถอดฝักดาบข้าว รู้ไว้.. อย่าปล่อยให้โต!!


รู้ไว้.. อย่าปล่อยให้โต!! #ข้าวถอดฝักดาบ โรคพืชอันตราย สร้างความเสียหายให้นาข้าวอย่างรุนแรง มารู้ทัน ป้องกัน กำจัดให้อยู่หมัดกันดีกว่า!

 

โรคถอดฝักดาบ หรือ โรคหลาว เกิดจากเชื้อรา เชื้อรา Fusarium fujikuroi Nirenberg (Fusarium moniliforme J. Sheld) ซึ่งหน้าตาของมันมักทำให้พี่น้องเกษตรกรสับสน คิดว่าเป็นเพียง “ข้าววัชพืช” เพราะต้นที่เป็นโรคจะยืดยาวสูงกว่าต้นข้าวไม่เป็นโรค ดูผิวเผินคล้ายกับข้าววัชพืช จึงทำให้มีเกษตรกรหลายคนจัดการไม่ถูกวิธี ปล่อยให้โรคนี้ระบาดในแปลง อีกทั้งยังเก็บเมล็ดพันธุ์จากแปลงที่เป็นโรคไปปลูกต่ออีกด้วย 

 

#อาการของโรค

▪️ ข้าวระยะกล้า ถ้าอาการรุนแรงต้นกล้าจะแห้งตาย แต่มักพบกับข้าวอายุเกิน 15 วัน 

▪️ ข้าวระยะเริ่มแตกกอ ข้าวเป็นโรคจะต้นผอมสูงเด่นกว่ากล้าข้าวโดยทั่ว ๆ ไป ต้นมีสีเขียวอ่อนซีด มักย่างปล้อง บางกรณีข้าวจะไม่ย่างปล้อง แต่รากจะเน่าช้ำ เวลาถอนมักจะขาดตรงบริเวณโคนต้น หากไม่รุนแรงอาการจะแสดงหลังจากย้ายไปปักดำได้ 15 - 45 วัน โดยที่ต้นเป็นโรคจะสูงกว่าข้าวปกติ ใบมีสีเขียวซีด เกิดรากแขนงที่ข้อลำต้นตรงระดับน้ำ บางครั้งพบกลุ่มเส้นใยสีชมพูตรงบริเวณข้อที่ย่างปล้องขึ้นมา

▪️ ต้นข้าวที่เป็นโรคมักจะตายและมีน้อยมากที่อยู่รอดจนถึงออกรวง แต่ถ้าออกรวงเมล็ดข้าวในรวงจะลีบและเมล็ดด่าง    

 

#การแพร่ระบาดของโรค

เชื้อราจะติดไปกับเมล็ด สามารถมีชีวิตในซากต้นข้าวและในดินได้เป็นเวลาหลายเดือน พบว่า หญ้าชันกาด เป็นพืชอาศัยของโรค

 

#แนวทางการป้องกันกำจัด

▪️ หลีกเลี่ยงการนำเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่มีประวัติโรคถอดฝักดาบระบาดมาใช้ทำพันธุ์ 

▪️ หากซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวมาปลูก ควรมีวิธีการกำจัดเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็บ อัตรา 3 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือแช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนหุ้มข้าวให้งอกก่อนปลูก ด้วยสารละลายของสารป้องกันกำจัดเชื้อราดังกล่าวในอัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแช่เมล็ดข้าวในสารละลายโซเดียมคลอโรไฮโปคลอไรท์ (คลอร็อกซ์) ความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์หรือ คลอร็อกซ์ อัตรา 1 : น้ำ 9 ส่วน

▪️ ควรกำจัดต้นข้าวที่เป็นโรคโดยการถอนและเผาทิ้ง เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราสามารถปลิวไปตกบนรวงข้าวอื่น

▪️ หลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรควรทำการไขน้ำเข้าแปลงและไถพรวน ปล่อยน้ำขังในแปลงนาน 1-2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคที่ตกค้างในดิน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.ricethailand.go.th/rkb3/title-index.php-file=content.php&id=119-1.htm

 

สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer

 

#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #ข้าวถอดฝักดาบ #โรคถอดฝักดาบ #โรคในข้าว #ศัตรูพืชในข้าว