ไม่อยากเสียน้ำตา… พี่น้องชาวนาต้องรู้จัก ดินเปรี้ยว

ไม่อยากเสียน้ำตา… พี่น้องชาวนาต้องรู้จัก ดินเปรี้ยว


ดินเปรี้ยว อีกหนึ่งปัญหาน่าปวดหัวของพี่น้องชาวนา เพราะทำให้ผลผลิตข้าวตกต่ำ วันนี้น้องปุ๋ยขยันจะขอพาพี่ ๆ ไปทำความรู้จักกับปัญหาดินเปรี้ยว พร้อมวิธีการป้องกันสำหรับนาข้าวกันครับ... ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลย!

 

◼️สาเหตุ : เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำกร่อย แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีก่อให้เกิดไพไรท์ในดิน ในสภาพแห้งไพไรท์จะถูกออกซิไดส์จนเกิดกรดกำมะถันขึ้นในดิน

 

◼️ลักษณะของดิน : ดินเปรี้ยวจัด มีเนื้อดินเป็นดินเหนียวจัด พบสารสีเหลืองฟางข้าว หรือตะกอนน้ำทะเลที่มีองค์ประกอบของสารกำมะถันมากภายในความลึก 150 เซนติเมตรจากผิวดิน สภาพพื้นที่โดยทั่วไป เป็นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมขัง มีต้นกกหรือกระถินทุ่งขึ้นอยู่ทั่วไป

 

◼️ปัญหาของดิน : ดินเป็นกรดจัดมาก มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (ค่า pH) ต่ำกว่า 4.5 มีความเป็นพิษของอะลูมินัม เหล็ก แมงกานีส ซัลไฟด์ ขาดแคลนธาตุอาหารไนโตรเจนและฟอสฟอรัส พื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมขัง และโครงสร้างดินแน่นทึบ ทำให้ดินมีการระบายน้ำเลว เนื้อดินเป็นดินเหนียวถึงเหนียวจัด เมื่อดินแห้งจะแข็งและแตกระแหง ทำให้ไถพรวนยาก

 

◼️ผลกระทบ : มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อทำการขังน้ำเพื่อปลูกข้าวจะได้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากดินมีปฏิกิริยาเป็นกรดอย่างรุนแรง ทำให้การละลายของเหล็ก แมงกานีส และอลูมินัมสูงขึ้นจนถึงระดับที่อาจเป็นพิษต่อข้าวและส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนธาตุฟอสฟอรัสอย่างรุนแรง

 

◼️การจัดการดินเปรี้ยว

1. เริ่มต้นด้วยการเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์ เพื่อจะได้รู้ว่าดินเป็นกรดรุนแรงมากหรือน้อย วัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) หาค่าความต้องการปูนของดิน วิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เพื่อนำไปหาอัตราปุ๋ยที่ต้องใช้ตามโปรแกรมคำแนะนำการใช้ปุ๋ยรายแปลง

 

2. ใส่วัสดุปูนปรับปรุงดินตามอัตราที่กำหนด (ตามค่าความต้องการปูนของดิน) โดยหว่านปูนกระจายทั่วพื้นที่ ไถคลุกเคล้ากับดิน หมักไว้อย่างน้อย 7 วัน ในสภาพดินชื้น เพื่อให้ปูนทำปฏิกิริยาสะเทินกรดในดิน ความรุนแรงของกรดจะลดลง (pH สูงขึ้น) การใช้วัสดุปูนทางการเกษตร แก้ความรุนแรงของกรดในดิน จึงเป็นวิธีที่ง่าย สะดวกและได้ผลรวดเร็วที่สุด สำหรับอัตราปูนที่แนะนำให้ใช้นั้นแตกต่างไปตามระดับความรุนแรงของกรดในดิน ดังนี้ 

◾️ดินเปรี้ยวจัดที่เป็นกรดรุนแรงน้อย pH ประมาณ 4.6-5.0 ใส่อัตรา 0.5 ตันต่อไร่

◾️ดินเปรี้ยวจัดที่เป็นกรดรุนแรงปานกลาง pH ประมาณ 4.0-4.4 ใส่อัตรา 1.0 ตันต่อไร่

◾️ดินเปรี้ยวจัดที่เป็นกรดรุนแรงมาก pH ต่ำกว่า 4.0 ใส่อัตรา 1.5-2.0 ตันต่อไร่ หรือตามค่าความต้องการปูนของดินที่วิเคราะห์

          

3. ปลูกพืชปุ๋ยสดตระกูลถั่วบำรุงดิน เช่น โสนอัฟริกัน ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า หรือปอเทือง โดยหว่านเมล็ดหลังปรับสภาพความเป็นกรดของดินแล้ว แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดเมื่อเริ่มออกดอก (อายุประมาณ 55-60 วัน) หมักไว้ประมาณ 10 วัน จึงเตรียมดินปลูกข้าว ปุ๋ยพืชสดที่ได้ให้ปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมลงดิน

 

4. ใส่ปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารจากค่าวิเคราะห์ดิน หรือความอุดมสมบูรณ์ของดิน

 

5. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก โดยมีการใส่ 2 ลักษณะคือ

 

5.1 การใช้ปุ๋ยหมักอย่างเดียว แนะนำให้ใช้ 2 ตันต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วพื้นที่ แล้วไถกลบก่อนปลูกข้าว จะได้ธาตุอาหารโดยเฉลี่ยประกอบด้วยไนโตรเจน 15.4 กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัส 7.2 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียม 24.6 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของข้าว โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ตามธาตุอาหารที่ได้จะแตกต่างกันไปตามชนิดของปุ๋ยหมักที่ใช้  

 

5.2 การใช้ปุ๋ยคอกอย่างเดียว แนะนำอัตรา 0.5 ตันต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูกข้าว จะได้ธาตุอาหารโดยเฉลี่ย ประกอบด้วยไนโตรเจน 11.6 กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัส 17.35 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียม 10.8 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของข้าวโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ตามธาตุอาหารที่ได้จะแตกต่างกันไปตามชนิดของปุ๋ยคอกที่ใช้

 

6. การใช้น้ำหมักชีวภาพที่เตรียมจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 น้ำหมักชีวภาพได้จากการหมักวัสดุอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ที่มีลักษณะสดหรืออวบน้ำ โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ในสภาพที่ไม่ต้องการอากาศ (สารเร่งซุปเปอร์ พด.2) การใช้น้ำหมักชีวภาพให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องใช้ควบคู่ไปกับการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ น้ำหมักชีวภาพช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เร่งการเจริญเติบโตของรากพืช เพิ่มการขยายตัวของใบและยืดตัวของลำต้น ส่งเสริมการออกดอกและติดผลของพืช

 

7. การคัดเลือกพันธุ์ข้าวแนะนำที่เหมาะสมปลูกในดินเปรี้ยวจัด

ดินเปรี้ยวจัดที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้วสามารถปลูกข้าวได้ทุกพันธุ์ การเลือกพันธุ์ข้าวมาปลูกนั้น จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลาย ๆ ด้านประกอบกัน ได้แก่ สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ความต้องการบริโภคของประชากรในพื้นที่ ความต้องการของตลาดและราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าวไว้รับประทาน และส่วนที่เหลือจำหน่ายให้โรงสี สำหรับพันธุ์ข้าวที่แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดในภาคต่าง ๆ มีดังนี้

 

ภาคกลางและภาคตะวันออก

▪️ พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ได้แก่ ข้าวจ้าวพันธุ์ กข.ต่าง ๆ, ปทุมธานี 1, ปทุมธานี 60, สุพรรณบุรี 60, สุพรรณบุรี 90, ชัยนาท 1, พิษณุโลก 2 เป็นต้น

▪️ พันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105, ข้าวหอมคลองหลวง, เก้ารวง 88, ขาวตาแห้ง 17, ขาวปากหม้อ 148, นางมลเอส-4, เหลืองปะทิว 123 เป็นต้น

 

ภาคใต้ 

▪️ พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ได้แก่ ปทุมธานี 1, ปทุมธานี 60, สุพรรณบุรี 60, สุพรรณบุรี 90, ชัยนาท 1, พิษณุโลก 2 เป็นต้น

▪️ พันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง แนะนำให้ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์ลูกแดงปัตตานี, แก่นจันทร์, นางพญา 132, เล็บนกปัตตานี, เฉี้ยงพัทลุง, กข 13, เผือกน้ำ 43, พวงไร่ 2 เป็นต้น

 

8. การจัดน้ำในดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกข้าว

น้ำเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการปลูกพืชทุกชนิด โดยเฉพาะปลูกข้าวต้องมีน้ำขังในนาตลอดฤดูกาลปลูก ถ้าข้าวขาดน้ำในช่วงตั้งท้องเมล็ดข้าวจะลีบ และได้ผลผลิตข้าวต่ำ นอกจากนั้นนาข้าวที่เป็นดินเปรี้ยวจัด ถ้าปล่อยน้ำขังในนาแล้วระบายน้ำออกเป็นระยะ ๆ ทุก 4 สัปดาห์ เปลี่ยนน้ำใหม่เข้านา เป็นการล้างกรดและล้างสารพิษออกจากดิน การมีน้ำขังในนาช่วยป้องกันการเกิดออกซิเดชันของไพไรต์ในดิน ลดการเกิดกรดเพิ่มขึ้นในดินด้วย ข้าวที่ปลูกจะเจริญงอกงามและให้ผลผลิตสูง ดังนั้นในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดที่อยู่ในเขตชลประทาน มีคลองส่งน้ำและมีน้ำใช้ตลอดปี เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง ดินมีความชุ่มชื้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ดินเปรี้ยวจัดที่ปรับปรุงด้วยวัสดุปูนมีความรุนแรงของกรดลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิภาพของปูนที่ใช้อยู่ได้นาน 4-5 ปี ช่วยลดปริมาณการใช้ปูนในครั้งต่อ ๆ ไป เป็นการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

การจัดการน้ำในการปลูกข้าว มีรายงานว่า ข้าวต้องการน้ำในการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตประมาณ 180-300 มิลลิเมตรต่อเดือน การปลูกข้าวแต่ละครั้งควรได้รับน้ำ 720-1,200 มิลลิเมตร ถ้าข้าวขาดน้ำในช่วงการพัฒนาช่อดอกจนถึงดอกบาน จะมีผลกระทบรุนแรงต่อการให้ผลผลิต การขาดน้ำเพียง 15 วัน ผลผลิตเมล็ดข้าวจะลดลงในอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน ดังนั้นต้องควบคุมระดับน้ำในนาให้มีน้ำขังสูง 5-10 เซนติเมตรตลอดฤดูกาลปลูก และระบายน้ำออกก่อนถึงระยะเก็บเกี่ยวประมาณ 20 วัน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน สภาเกษตรกรแห่งชาติ

 

สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer

 

#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #ดินเปรี้ยว #ดินเปรี้ยวในข้าว #วิธีแก้ดินเปรี้ยว