ดินเค็ม จัดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องเกษตรกรเลยทีเดียว เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดี ตายง่าย ไม่ออกดอก-ออกผล
เพื่อไม่ให้พี่น้องเกษตรกรต้องประสบปัญหานี้ น้องปุ๋ยขยันจะพาไปทำความรู้จักว่าดินเค็มนั้นคืออะไร และวิธีแก้ไขอย่างไรครับ ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลย!!
#ดินเค็มคืออะไร
ดินเค็ม คือ ดินที่มีสารละลายต่าง ๆ จำพวกเกลืออยู่เป็นจำนวนมากกว่าปกติ เนื่องจากน้ำใต้ดินที่อยู่ในบริเวณนั้นมีสารละลายเกลือมากเกินไป ทำให้ดินในบริเวณที่เป็นดินเค็มนั้น พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดี ลำต้นแคระแกร็น ให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากธาตุอาหารในดินขาดความสมดุล ทำให้พืชขาดน้ำจากความเป็นพิษของโซเดียม และคลอไรด์ที่อยู่ในดิน
#ดินเค็มสังเกตได้อย่างไร
1. เป็นบริเวณที่ไม่ห่างจากฝั่งทะเลมากนัก และมีน้ำทะเลขึ้นท่วมถึงหรือเคยเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำทะเลท่วมถึงมาก่อน
2. บริเวณพื้นที่ดินเค็มจะมีพืชที่สามารถทนเค็มได้ดีขึ้นอยู่ ซึ่งเราสามารถบอกได้ว่าถ้ามีพืชพรรณชนิดนี้ขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่นั้น ๆ จะเป็นพื้นที่ดินเค็ม เช่น ชะคราม จาก แสม โกงกาง ลำแพน ลำพูน เหงือกปลาหมอ หนามแดง หญ้าทนเค็มบางชนิด ฯลฯ
3. บนผิวดินมักพบคราบเกลือสีขาวปรากฏอยู่บนผิวดินเป็นหย่อม ๆ หรืออาจพบเนื้อดินฟุ้งกระจาย เม็ดดินแตกสลาย เมื่อเปียกน้ำจะพองตัว เนื่องจากดินมีเกลือโซเดียมคาร์บอเนตสูง บางแห่งเป็นดินแน่นทึบไม่มีพืชขึ้นอยู่เลย
4. พืชที่ปลูกบริเวณนั้นตายเป็นหย่อม ๆ อาการของพืชจะปรากฏให้เห็นซึ่งเกิดจากผลของความเค็ม เช่น ขอบใบจะไหม้ พืชแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต เป็นต้น
5. ชิมดินและน้ำ เมื่อมีรสกร่อยแสดงว่ามีอันตรายต่อพืช หรือน้ำเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล
#ดินเค็มแก้ได้อย่างไร
การจัดการปัญหาดินเค็มที่กระจายไปทั่วนั้น มักมีลักษณะการจัดการที่แตกต่างกัน โดยต้องพิจารณาถึงสาเหตุและลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่
ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในปัจจุบันมีการใช้พื้นที่ที่มีลักษณะของดินเค็มในการเพาะปลูกเปลี่ยนเป็นนาข้าว แต่มักจะได้ผลผลิตต่ำ วันนี้น้องปุ๋ยขยันจะมาแนะนำวิธีการจัดการพื้นที่เพาะปลูกนาข้าวในดินเค็มให้ได้ผลผลิตที่ดีกันครับ
◾️การเพิ่มผลผลิตข้าวในนาดินเค็ม
ข้าวเป็นพืชทนเค็มได้ปานกลาง และเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินมีน้ำขัง พบต้นข้าวตายเป็นหย่อม ๆ ข้าวที่กำลังงอกค่อนข้างมีความทนทานต่อความเค็ม แต่จะอ่อนแอในระยะต้นกล้า ระยะปักดำ และระยะออกดอก อาการของข้าวที่ได้รับผลกระทบจากดินเค็มคือ อัตราความงอกลดลง แคระแกร็น ไม่แตกกอ รากมีการเจริญเติบโตไม่ดี ปลายใบสีขาว บางใบแห้งเป็นแถบ ๆ เกิดกับใบแก่ก่อนแล้วจึงลามมาที่ใบที่กำลังเจริญเติบโต ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโตและการแตกกอลดลง เมล็ดข้าวลีบ น้ำหนักเมล็ดและโปรตีนในเมล็ดลดลง ผลผลิตต่ำ แต่ไม่มีผลต่อคุณภาพการหุงต้ม
◾️คำแนะนำการปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็ม ดังนี้
1. ทำทางระบายน้ำเพื่อชะล้างเกลือจากแปลงข้าว และปรับระดับดินให้สม่ำเสมอกัน
2. เมื่อฝนตก ขังน้ำในนา ให้น้ำชะล้างเกลือที่ผิวหน้าดินซึมลงไปในดินชั้นล่าง และระบายน้ำเค็มออกจากนา
3. ใช้อินทรียวัตถุปรับปรุงบำรุงดิน เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ ฟางข้าว
4. ใช้พันธุ์ข้าวทนเค็ม เช่น ขาวดอกมะลิ 105, กข6, กข15, เหนียวสันป่าตอง ขาวตาแห้ง เป็นต้น
5. ปักดำต้นกล้าข้าวอายุ 30-35 วัน ทำให้อัตราการรอดตายและผลผลิตสูงขึ้น
6. ดูแลรักษาหลังเก็บเกี่ยว หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรคลุมดินด้วยฟาง ไม่ปล่อยให้หน้าดินว่าง เพราะจะทำให้น้ำในดินระเหยพาเกลือกลับขึ้นมาสะสมที่ผิวดิน
ดินเค็มภาคกลาง
จากสาเหตุของการเกิดและการแพร่กระจายดินเค็มที่ต่างจากภาคอื่น ๆ ดังนั้นมาตรการในการจัดการปัญหาดินเค็มภาคกลาง สรุปได้ดังนี้
1. ด้านการเกษตรกรรม ควรปลูกพืชให้เหมาะสมกับระดับความเค็มของดิน การปลูกพืชเศรษฐกิจ ทดแทนการปลูกข้าว เช่น หน่อไม้ฝรั่ง แคนตาลูป บรอกโคลี โดยมีการจัดการที่ดี ได้แก่ การปลูกโดยวิธียกร่องแล้วปลูกตรงตำแหน่งที่หลีกเลี่ยงการสะสมเกลือ การคลุมดินหลังการปลูก การใช้วัสดุปรับปรุงดิน จำพวก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ขี้เถ้าแกลบ กากอ้อย แกลบ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้พืชได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
2. ด้านการชลประทาน ควรมีการใช้น้ำอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพเพียงพอกับความต้องการของพืชนั้น ๆ โดยที่การให้น้ำแบบหยด หรือ Mini Sprinkler เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและควบคุมการสะสมเกลือที่ผิวดิน อย่างไรก็ตามควรให้กับพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง
3. ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม
เห็นไหมครับว่าแม้ดินเค็มจะเป็นปัญหา แต่เราสามารถเรียนรู้และปรับปรุงวิธีการเพื่อให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของเราได้มากที่สุด โดยน้องปุ๋ยขยันจะขอสรุปแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดังนี้
1. การป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ควบคุมไม่ให้เกิดพื้นที่ดินเค็มเพิ่มขึ้น หรือมีความรุนแรงมากขึ้น โดยพิจารณาจากสาเหตุการเกิดดินเค็มในแต่ละพื้นที่
2. การเพิ่มผลผลิตพืชในพื้นที่ดินเค็มน้อย-เค็มปานกลาง โดยใช้เทคนิคการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน การใช้พันธุ์พืชทนเค็ม การเขตกรรมที่เหมาะสม
3. การแก้ไขลดระดับความเค็มดินในพื้นที่ดินเค็มจัดที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ สามารถทำได้ด้วยวิธีการทางวิศวกรรม ชะล้างเกลือออกจากบริเวณรากพืช และวิธีการจัดการทางพืช
4. การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดินเค็มจัด เนื่องจากดินมีเกลือมากเกินไปพืชขึ้นไม่ได้ สามารถฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของพื้นที่ได้โดยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ด้วยการปลูกหญ้าชอบเกลือและต้นไม้ทนเค็มจัด พืชเหล่านี้มีความสามารถพิเศษปรับตัวเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ว่างเปล่ามีคราบเกลือได้ และยังใช้ประโยชน์เป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์และเป็นฟืนได้ และทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : ข้อมูลการจัดการดิน กลุ่มวิจัยและพัฒนาการจัดการดินเค็ม กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่ #ดินเค็ม #แก้ปัญหาดินเค็ม #ดินเค็มภาคกลาง #ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ