น้องปุ๋ยขยันขอแชร์!!  3 เคล็ดลับ ปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตดี๊ดี

น้องปุ๋ยขยันขอแชร์!! 3 เคล็ดลับ ปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตดี๊ดี


น้องปุ๋ยขยันมีเคล็ดลับดี ๆ มาแชร์อีกเช่นเคย กับ “3 เคล็ดลับ ปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตดี๊ดี” รับรองว่าทำตามนี้มีแต่ปัง กับ ปัง!! 

 

◼️เคล็ดลับที่ 1 #เลือกพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับพื้นที่ 

สภาพพื้นที่ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

▪️ ที่ลุ่มมีน้ำขังในช่วงฤดูฝน (น้ำมาก) ควรเลือกใช้พันธุ์ที่ทนต่อสภาพน้ำแช่ขังได้ดี

▪️ ที่ราบมีการระบายน้ำดี (น้ำพอดี) ใช้ได้ทุกพันธุ์

▪️ ที่ดอน (ฤดูแล้งมักขาดน้ำ, น้ำน้อย) ควรเลือกพันธุ์ที่ไม่ชอบน้ำแช่ขัง แต่มีความทนแล้งได้ดี

 

น้องปุ๋ยขยันมีหลักการเลือกพันธุ์ที่ดีมาฝาก ดังนี้ 

✔ อายุอ้อยที่ใช้ทำพันธุ์ควรอยู่ระหว่าง 8-10 เดือน 

✔ ท่อนพันธุ์ควรปราศจากโรคและแมลง (แปลงพันธุ์ควรจะปลอดโรคและแมลง) 

✔ เป็นพันธุ์แท้ (ลักษณะพันธุ์ตรงตามลักษณะบ่งชี้ของแหล่งที่มา) และไม่มีพันธุ์อื่นปน

✔ ตาอ้อยที่อยู่บนท่อนพันธุ์ส่วนใหญ่ต้องสมบูรณ์ ไม่เสียหาย

 


◼️เคล็ดลับที่ 2 #ฟื้นบำรุงดินให้ดีก่อนเพาะปลูก 

เพราะ “ดินคุณภาพดี” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูกอ้อย ดังนั้นน้องปุ๋ยขยันจะขอแนะนำวิธีบำรุงดินแบบที่ไม่ต้องเสียเงินสักบาทนั่นก็คือ “การปรับปรุงดินโดยใช้เศษซากใบอ้อย” ที่ได้หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยไป โดยมีวิธีคร่าว ๆ ดังนี้ครับ

 

▪️ หลังจากการเก็บเกี่ยวอ้อย จะพบว่ามีเศษซากใบอ้อยที่ประกอบด้วยส่วนของใบ กาบใบ และยอดอ้อยที่เหลือจากการมัดอ้อยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเศษซากใบอ้อยเหล่านี้ นับว่าเป็นวัสดุปรับปรุงดินชั้นดี เพียงแค่ไม่เผาทำลาย แต่ไถพรวนสับเศษซากใบให้ละเอียดจะมีประโยชน์ต่อดินมาก ดังนี้

 

• เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน 

• ทำให้ดินร่วนซุย มีการถ่ายเทอากาศและระบายน้ำได้ดี 

• เพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้แก่ดิน 

• เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน 

• ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา

 

วิธีการไถพรวน

1. ตัดอ้อยสด (ไม่เผาอ้อยก่อนตัด) เมื่อตัดอ้อยแล้วไม่เผาเศษซากใบอ้อย ให้ไถรื้อตออ้อยเก่าด้วยการไถรื้อตอสับใบ หรือชุดพรวน 20 - 22 จาน ให้เศษซากใบอ้อยกลบลงไปในดินจนหมด 

 

2. พักดินทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อรอให้จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายเศษซากใบอ้อยให้หมดก่อน หากไม่พักดินแล้วทำการปลูกอ้อยเลยทันที อาจทำให้ต้นอ้อยที่งอกออกมามีอาการขาดธาตุไนโตรเจนได้ เนื่องจากจุลินทรีย์ในดินจะดึงไนโตรเจนจากดินไปใช้ในกระบวนการย่อยสลายเศษซากใบอ้อย ทำให้มีปริมาณไนโตรเจนในดินน้อยลงในช่วงที่มีการย่อยสลาย 

 

3. เมื่อพักดินจนมีการย่อยสลายเศษซากใบอ้อยหมดแล้ว ให้ทำการไถเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อยในครั้งใหม่ต่อไปได้ตามปกติ 

 

4. ทำทุกครั้งเมื่อมีการไถรื้อตอเพื่อปลูกอ้อย ฉะนั้นแปลงหนึ่งจะมีการไถพรวนคลุกเศษซากใบอ้อยทุก ๆ 3-4 ปี   

 

ในส่วนของอ้อยตอจะมีวิธีการ ดังนี้ 

1. ต้องตัดอ้อยสด (ไม่เผาอ้อยก่อนตัด) เมื่อตัดอ้อยแล้วไม่เผาเศษซากใบอ้อย ให้พรวนชนิด 8 - 16 จาน ที่ออกแบบมาสำหรับพรวนสับใบในอ้อยตอ หรือจอบหมุนสับใบอ้อย ทำการพรวนสับใบอ้อยให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยคลุกเคล้าลงไปในดิน การพรวนสับใบในครั้งแรกควรทำทันทีหลังจากตัดอ้อยแล้ว 1-7 วัน จะสามารถสับเศษใบอ้อยให้ขาดได้ดี ถ้าหากหลังจากนั้นต้องรอเวลาให้ใบอ้อยแห้งกรอบประมาณ 1 เดือน 

 

2. หากพรวนสับใบในครั้งแรกแล้วพบว่า เศษซากใบอ้อยยังคลุกเคล้าลงไปในดินไม่ดี ควรพรวนซ้ำครั้งที่ 2 หลังจากการพรวนครั้งแรกประมาณ 1 เดือน

 

3. ควรมีการปรับตั้งเครื่องมือพรวนสับใบให้เหมาะสม หรือเพิ่มน้ำหนักถ่วงเพื่อเพิ่มแรงกดลงไปที่ผานพรวน จะช่วยในการพรวนสับใบได้ดีขึ้น 

 

4. ก่อนการพรวนหากมีการหว่านปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราต่ำ ๆ แล้วทำการพรวนสับใบ จะช่วยทำให้เศษซากใบอ้อยมีการย่อยสลายตัวได้เร็วขึ้น 

 

5. ทำทุกครั้งหลังจากการตัดอ้อยแล้วต้องบำรุงอ้อยตอจะเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้ปีละ 1 ครั้ง

 

◼️เคล็ดลับที่ 3 #จัดการวัชพืชในไร่อ้อยให้อยู่หมัด

การจัดการวัชพืช หมายถึง วิธีการจัดการลดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างอ้อยกับวัชพืช ซึ่งมีหลายวิธีการ เช่น การใช้สารเคมี การใช้เครื่องมือเครื่องจักรและการเขตกรรม วิธีการจัดการวัชพืชในไร่อ้อยจะให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องผสมผสานวิธีการให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากต้นทุนและผลกำไร 

 

หลักสำคัญการกำจัดวัชพืชในไร่อ้อย 

1. ต้องเตรียมดินดี คือ จะต้องทำให้เศษวัชพืชเก่าตายให้หมด 

2. ต้องให้อ้อยมีช่วงปลอดวัชพืชอย่างน้อย 4 เดือน คือ ต้องกำจัดวัชพืชตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเริ่มย่างปล้อง 

3. อ้อยที่ปลูกต้องงอกดีและสม่ำเสมอ 

 

ซึ่งการกำจัดวัชพืชที่นิยม มี 3 ประเภท ได้แก่ 

 

1. การกำจัดด้วยสารเคมี : เป็นวิธีที่นิยมใช้เนื่องจาก ประหยัดแรงงานและค่าจ้าง ควบคุมและกำจัดวัชพืชได้แน่นอนและยาวนานกว่าวิธีการอื่น ๆ ข้อเสียคือสะสมในดิน กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว ทั้งนี้จะต้องรู้จักชนิดของสารกำจัดวัชพืชเป็นอย่างดี เพราะหากใช้สารกำจัดวัชพืชผิดชนิด อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอ้อยได้

 

2. การกำจัดด้วยเครื่องมือ : การกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องมือเป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้กันมากเช่นกัน แต่วิธีการนี้จะต้องใช้เงินลงทุนครั้งแรกสูงมากกับเครื่องจักรเครื่องมือ แต่เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ใช้งาน และปริมาณงานที่ได้แล้ว ถือว่าเป็นการกำจัดวัชพืชที่มีต้นทุนต่ำ วิธีการนี้เหมาะสมกับไร่อ้อยขนาดใหญ่ ที่มีปัญหาด้านแรงงาน เครื่องมือในการกำจัดวัชพืช แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

 

#รถแทรกเตอร์ (เครื่องยนต์หรือต้นกำลัง) จะบ่งบอกถึงปริมาณงานที่ได้หรือความเร็วในการทำงาน มีหลายขนาด เช่น รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก  

 

#เครื่องมือการเกษตร การใช้เครื่องมือจะขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และปริมาณวัชพืช สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 3 ชนิด ได้แก่ คราด พรวน จอบหมุน

 

3. การกำจัดด้วยการเขตกรรม : การกำจัดวัชพืชด้วยเขตกรรม ถือเป็นการจัดการวัชพืชเชิงอนุรักษ์ โดยการอาศัยประสบการณ์หลายด้าน ทั้งในด้านดิน พืช สภาพแวดล้อม และการจัดการ เพื่อลดความรุนแรงของวัชพืชเท่านั้น แม้ว่าการควบคุมวัชพืชจะไม่ดีเท่าวิธีอื่น ๆ แต่เป็นการลงทุนที่มีต้นทุนน้อยมาก เพราะอาศัยประสบการณ์ที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ซึ่งการกำจัดวัชพืชด้วยการเขตกรรมให้มีประสิทธิภาพ ต้องผสมผสานกับวิธีการอื่น ๆ ด้วย เช่น 

 

#การเลือกฤดูกาลเพาะปลูก มีความสัมพันธ์กับปริมาณและชนิดวัชพืช เช่น การปลูกอ้อยข้ามแล้ง (พ.ย.-ธ.ค.) จะมีวัชพืชน้อยกว่าการปลูกอ้อยฤดูฝน (พ.ค.-ก.ค.) การปลูกอ้อยในเขตชลประทาน จะมีวัชพืชมากกว่าการปลูกอ้อยเขตน้ำฝน

 

#ระยะปลูก การปลูกอ้อยระยะระหว่างแถวแคบ (80-100 ซม.) สามารถลดปริมาณและความรุนแรงของวัชพืชได้มากกว่าการปลูกอ้อยระยะระหว่างแถวกว้าง (140-160 ซม.) เนื่องจากอ้อยสามารถคุมวัชพืชได้เร็วกว่า

 

#พันธุ์อ้อย ภายใต้สภาพแวดล้อม ดิน การจัดการอย่างเดียวกัน แต่พันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์จะมีลักษณะการเจริญเติบโตแตกต่างกัน เช่น 

- พันธุ์อ้อยที่งอกเร็ว จะคลุมวัชพืชได้เร็วกว่าพันธุ์ที่งอกช้า 

- พันธุ์อ้อยที่แตกกอมาก จะคลุมวัชพืชได้เร็วกว่าพันธุ์ที่แตกกอน้อย 

- พันธุ์อ้อยที่ทรงกอกว้าง จะคลุมวัชพืชได้เร็วกว่าพันธุ์ที่ทรงกอแคบ 

- พันธุ์อ้อยที่ใบใหญ่ จะคลุมวัชพืชได้เร็วกว่าพันธุ์ที่ใบเล็ก

 

#การใช้วัสดุคลุมดิน การคลุมดินด้วยเศษวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุอื่น ๆ เช่น กระดาษ แกลบ กาบมะพร้าว ฟางข้าว ฯลฯ นอกจากจะช่วยลดวัชพืชแล้ว ยังช่วยรักษาความชื้นในดิน และเศษวัสดุคลุมดินจะค่อย ๆ ผุพังสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุอย่างดีแก่ดินอีกด้วย ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อย นิยมใช้เศษใบและยอดอ้อยคลุมดิน แต่ปัญหาของการใช้วัสดุคลุมดินคือเสี่ยงเป็นแหล่งสะสมของโรค แมลง และหนู

 

#การปลูกพืชแซมอ้อย เป็นการใช้พื้นที่ว่างระหว่างแถวให้เป็นประโยชน์มากที่สุดในขณะที่อ้อยยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การปลูกพืชแซมอายุสั้นระหว่างแถวอ้อย นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาวัชพืชแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้ แก่เกษตรกรอีกด้วย พืชแซมที่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าวโพด และพืชตระกูลถั่ว 

 

การปลูกพืชแซมอ้อย ควรต้องเก็บเกี่ยวพืชแซมก่อนถึงระยะอ้อยแตกกอ เพื่อหลีกเลี่ยงการแก่งแย่งธาตุอาหาร น้ำ และแสงแดด หรือเมื่อเก็บเกี่ยวพืชแซม จะต้องมีระยะเวลาของการเจริญเติบโตของอ้อยยาวนานพอสมควร

 

เมื่อได้การจัดการที่ดี ดินที่ดี พันธุ์อ้อยที่ดีแล้ว พี่น้องเกษตรกรก็ควรมีธาตุอาหารพืชที่ดี สำหรับการเพาะปลูกอ้อยด้วยนะครับ น้องปุ๋ยขยันขอแนะนำปุ๋ยตรามงกุฎที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกอ้อย ไม่ว่าจะเป็น 18-8-8, 15-15-15 ทับทิม หรือ 40-0-0 เพื่อผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ น้องปุ๋ยขยันขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวไร่อ้อยทุกคนนะคร้าบบบบ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือคู่มือการจัดการอ้อยอย่างยั่งยืน, สำนักงานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

 

สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

ติดตามคลิปความรู้สนุก ๆ จากน้องปุ๋ยขยันใน TikTok ได้ที่ https://www.tiktok.com/@mongkutfertilizer

 

#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #เกษตรกรรุ่นใหม่#ปุ๋ยขยันปันคำตอบ #การปลูกอ้อย #ปลูกอ้อย #พันธุ์อ้อย #เครื่องปลูกอ้อย #เครื่องตัดอ้อย #ปลูกอ้อยคั้นน้ำ #ปลูกอ้อยหลุม #ปุ๋ยอ้อย #ปุ๋ยใส่อ้อย #ปุ๋ยใส่อ้อยใช้สูตรอะไร