น้ำมา... ปลากินมด หลังน้ำลด ฟื้นฟูนาข้าวยังไงดี?
.
ก่อนอื่นน้องปุ๋ยขยันขอส่งกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรทุกท่านที่กำลังเผชิญภัยน้ำท่วม ขอให้พี่ ๆ ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างปลอดภัยนะครับ
.
ในหน้าฤดูน้ำมานี้ เรามักพบเห็นน้ำท่วมขังนาข้าวที่เพาะปลูกบริเวณพื้นที่ลุ่มกันได้อยู่บ่อย ๆ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ของน้ำท่วมขัง มักเกิดขึ้นจากฝนตกหนักต่อเนื่องจนน้ำระบายไม่ทัน หรือไม่ก็พื้นที่รับน้ำเกิดการท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งการท่วมขังของน้ำนั้นส่งผลกระทบและผลเสียหายต่อพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยตรง
.
เพื่อให้ผลผลิตของพี่น้องได้รับความเสียหายหายน้อยที่สุด น้องปุ๋ยขยันมี “วิธีการเบื้องต้นในการจัดการนาข้าวหลังน้ำลด” มาฝาก พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยครับ!
◾️นาข้าวระยะแตกกอ
ให้ระบายน้ำจนยอดข้าวโผล่ โดยควบคุมระดับน้ำให้เหลือประมาณ 5-10 เซนติเมตร จากนั้นหลังจากน้ำลด 4-5 วันถ้าข้าวมีอาการเหลืองให้ใส่ปุ๋ยตามอัตราแนะนำเพื่อให้ข้าวได้รับสารอาหารและเจริญเติบโตต่อไป เนื่องจากข้าวระยะแตกกอนั้นจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
◾️นาข้าวระยะออกรวง
หลังน้ำลดให้เร่งระบายน้ำออกโดยไม่แนะนำให้ใส่ปุ๋ยในช่วงนี้ แต่ให้ระวังเรื่องโรคพืชและแมลงที่อาจเข้าทำลายข้าวในระยะนี้ได้
◾️นาข้าวระยะสุกแก่
เร่งระบายน้ำออก และให้รีบเก็บเกี่ยวและลดความชื้นเมล็ดข้าว เช่น การตากให้แห้ง เป็นต้น
◾️กรณีนาข้าวเสียหายทั้งหมด
หากน้ำลดแล้วให้เตรียมดินสำหรับเพาะปลูกข้าวใหม่ได้ตามปกติ ให้เตรียมดินปลูกโดยไถกลบหมักฟางข้าวและเศษวัชพืชก่อนปลูกข้าวอย่างน้อย 7 วัน เพื่อล่อให้วัชพืชอื่น ๆ งอกขึ้นมาแล้วไถกลบอีกครั้ง เป็นการกำจัดวัชพืช ข้าวดีด และข้าวเด้งไปในตัว แต่หากน้ำลดไม่ทันฤดูกาลปลูก แนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ปอเทือง เพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินและรอการปลูกตามฤดูกาลต่อไป
◾️เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
ในขณะที่น้ำท่วมขังในระดับสูงดินจะอิ่มด้วยน้ำ ทำให้ดินขาดอากาศ และเกิดปฏิกิริยาทางเคมีบางอย่าง ก่อให้เกิดสารประกอบอินทรีย์ เช่น กรดบูทีริก และไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นพิษต่อต้นข้าว หลังน้ำลดควรรีบระบายออกแล้วปล่อยให้ดินแห้ง นอกจากนี้ปริมาณอินทรียวัตถุ จุลินทรีย์หน้าดิน และธาตุอาหารจะลดลงจากบริเวณที่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป แต่จะเพิ่มขึ้นในที่พื้นที่ลุ่มต่ำ โดยจะสังเกตได้ว่าฤดูกาลปลูกครั้งแรกในพื้นที่รับน้ำเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวจะเห็นว่าข้าวเจริญเติบโตดี เนื่องจากดินที่ทำการเพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น
ในช่วงหลังจากน้ำลด 2-3 วันแรก อย่าเพิ่งใส่ปุ๋ยเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะช่วงนี้ รากยังคงอ่อนแอ และเสียหาย บางครั้งอาจมีรากเน่าอยู่ด้วย การใส่ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะ “ปุ๋ยยูเรีย” จะไปช่วยเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่ราก ทำให้รากเน่าเร็วขึ้น
ฉะนั้น อย่าห่วงว่าหลังน้ำลด ข้าวจะต้องได้ปุ๋ยทันที เพราะปกติเมื่อน้ำท่วมนาเป็นเวลา 5-6 วัน แล้วน้ำลดลง จะพบว่าข้าวจะได้สารอาหารจากน้ำที่หลากมา โดยน้ำจะพัดผ่านแหล่งอาหารธรรมชาติมาด้วย หลังน้ำลดแล้ว 3-4 วัน ปล่อยให้ดินแห้งดี แล้วจะพบว่า นาข้าวกลับมาสีเขียว ต้นข้าว รวงข้าวเริ่มชู แข็งแรง นาบางแปลง ข้าวกลับมีสีเขียวเข้ม ดังนั้น สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือเร่งใส่ปุ๋ยเข้าไปอีก เพราะกลับจะทำให้ข้าวเฝือใบ ต้นอ่อนแอ เป็นที่ชอบของแมลง และโรคต่าง ๆ โดยถ้าหลังจาก 4-5 วันที่น้ำลดแล้ว ข้าวมีอาการจากเหลือง ไปสู่การเหลืองมากขึ้น จึงแนะนำให้ค่อยใส่ปุ๋ย เพื่อฟื้นฟูอาการได้ แต่ให้ใส่ทีละน้อย คอยสังเกตอาการฟื้นตัว
และนี่ก็เป็นวิธีการเบื้องต้นในการจัดการพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม อย่างไรก็ดีในช่วงนี้ฝนตกหนักพี่น้องเกษตรกรท่านใดที่กำลังจะปลูกข้าวขอให้วางแผนการเพาะปลูกให้ดีด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมการข้าว
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #นิยมทั่วไทย #พันธุ์ข้าว #พันธุ์ข้าวนาปรัง #ข้าวหอมมะลิ105 #ข้าวกข43 #วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวให้ได้ผลผลิตสูง #วิธีการใส่ปุ๋ยข้าว3ครั้ง #การใส่ปุ๋ยข้าว #ปุ๋ยใส่ข้าว #ปุ๋ยข้าว #ข้าวตั้งท้องใส่ปุ๋ยสูตรไหน #ปุ๋ยข้าวระยะแตกกอ #ปุ๋ยข้าวระยะตั้งท้องรับรวง #ปุ๋ยข้าวระยะแต่งหน้า #นาข้าวน้ำท่วม #น้ำท่วมนาข้าว #จัดการนาข้าว #ฟื้นฟูนาข้าวหลังน้ำท่วม #ฟื้นฟูนาข้าวหลังน้ำลด