น้องปุ๋ยขอแชร์!! เพลี้ยกระโดดท้องขาว ศัตรูร้ายตัวใหม่ทำลายข้าวโพด

น้องปุ๋ยขอแชร์!! เพลี้ยกระโดดท้องขาว ศัตรูร้ายตัวใหม่ทำลายข้าวโพด


 

พี่น้องชาวไร่ข้าวโพด โปรดฟังทางนี้!!

วันนี้น้องปุ๋ยขยันมีสาระล่าสุดมาแชร์ครับ ตอนนี้มันโผล่มาแล้ววว ศัตรูร้ายตัวใหม่ทำลายข้าวโพด “เพลี้ยกระโดดท้องขาว” ถึงตัวจะจิ๋ว แต่ร้ายกาจไม่เบา ทำเอาข้าวโพดพี่ ๆ เสียหายได้เป็นกอง 

 

เพื่อให้พี่น้องรับมือได้ทัน เรามาทำความรู้จักและจัดการเจ้าเพลี้ยกระโดดท้องขาวกันครับ!!

 

#เพลี้ยกระโดดท้องขาว (White-Bellied Planthopper, Corn Planthopper) เป็นศัตรูชนิดใหม่ของข้าวโพดที่มีรายงานในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับข้าวโพด

 

#รูปร่างลักษณะ ตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลอ่อน ปีกค่อนข้างใส เพศเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพศผู้ บริเวณส่วนท้องด้านล่างของเพศผู้จะมีสีน้ำตาลส้ม ส่วนของเพศเมียจะมีลักษณะของไขหรือขี้ผึ้งสีขาวเคลือบอยู่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เพลี้ยกระโดดท้องขาว” หรือ White-Bellied Planthopper

 

#ลักษณะการทำลาย

ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ด้านข้างเส้นกลางใบของข้าวโพด หรือบริเวณกาบใบ และใช้ขุยสีขาวที่อยู่ส่วนท้องปิดบริเวณที่วางไข่ไว้ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เกาะอยู่ตามซอกใบในยอดข้าวโพด ฐานใบ หรืออยู่ด้านหลังใบ ทำลายพืชโดยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ส่วนของพืชเกิดรอยสีเหลืองซีด (Chlorosis) ระยะต่อมาใบไหม้ (Necrosis) ต้นแคระแกร็น การดูดกินน้ำเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการใบไหม้ทั้งใบ (Hopperburn) เพลี้ยกระโดดท้องขาวจะขับน้ำหวานออกมา ทำให้เกิดราดำปกคลุมใบ ลำต้น และตามพื้นดิน ทำให้บดบังพื้นที่สังเคราะห์แสงของพืช พืชจึงสังเคราะห์แสงได้ลดน้อยลง จากการสังเกตในไร่เกษตรกร พบว่าเกิดความรุนแรงในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บางพันธุ์ ในประเทศอินโดนีเซีย พบในระยะที่ข้าวโพดมีการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ (Vegetative Phase) มากกว่า ระยะสืบพันธุ์ (Generative Phase) มักจะระบาดในฤดูแล้ง มากกว่าฤดูฝน ซึ่งผลผลิตที่ได้จากข้าวโพดที่ถูกเพลี้ยกระโดดท้องขาวเข้าทำลายนั้น จะมีฝักที่ลีบเล็ก เมล็ดมีน้ำหนักน้อย เปราะและแตกหักได้ง่ายเมื่อนำไปเข้าเครื่องกะเทาะเมล็ด

 

#ปัจจัยที่เอื้อต่อการระบาด

▪️ การปลูกพืชติดต่อกัน 

▪️ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณสูง 

▪️ การใช้สารป้องกันกำจัดแมลงมากเกินไป ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย

 

#พื้นที่และช่วงที่พบการระบาด

▪️ พบการระบาดสูงในช่วงแล้ง หรือฤดูปลูกข้าวโพดหลังนา ตั้งแต่เดือนพ.ย. เป็นต้นไป และพบการระบาดมากขึ้นในเดือนก.พ.-มี.ค.

▪️ พื้นที่ที่มีการระบาด เช่น อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอโกรกพระ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
 

#การป้องกันกำจัด

หมั่นสำรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ หากพบปุยสีขาวเกาะอยู่บริเวณเส้นกลางใบหรือกาบใบ แสดงว่าเริ่มมีการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดท้องขาว หากระบาดรุนแรงให้เลือกใช้สารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งตามคำแนะนำของสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ดังนี้

▪️ คาร์บาริล 85% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 1)

▪️ ไทอะมีโทแซม 25% WP อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)

▪️ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)

▪️ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)

▪️ ไพมีโทซีน 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 9)

▪️ บูโพรเฟซิน 25%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 16)

▪️ ฟลอนิคามิค 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 29)

 

หมายเหตุ : ไฟมีโทซีนและฟลอนิคามิค เป็นสารที่คาดว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดแต่ก็มีราคาสูง ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงต้นทุนและความคุ้มค่าในการใช้ด้วย สำหรับอิมิดาโคลพริด, ไทอะมีโทแชม และไดโนทีฟูแรน เป็นสารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ จัดอยู่ในกลุ่ม 4 เป็นสารกลุ่มที่มีพิษต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรสูง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้ โดยอาจเลือกช่วงเวลาในการพ่นสารเป็นช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ผึ้งและแมลงผสมเกสรออกหาอาหาร จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร และสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช, กรมวิชาการเกษตร

 

สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

 

#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #ปุ๋ยข้าวโพด #ปลูกข้าวโพด #ข้าวโพด #เครื่องหยอดข้าวโพด #ข้าวโพดหวาน #ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ #พันธุ์ข้าวโพด #ศัตรูพืชข้าวโพด #เพลี้ยกระโดดท้องขาว