น้องปุ๋ยขยันชวนรู้! แมลงศัตรูพืชในนาข้าว 3 ระยะ

น้องปุ๋ยขยันชวนรู้! แมลงศัตรูพืชในนาข้าว 3 ระยะ


ช่วงนี้ถือเป็นฤดูปลูกข้าวของพี่น้องชาวนาเลยทีเดียว หลายพื้นที่ก็อาจจะเจอโรคและแมลงระบาดได้ ซึ่งแต่ละพื้นที่ แต่ละระยะการปลูก ก็มักจะเจอปัญหาไม่เหมือนกัน

 

วันนี้น้องปุ๋ยขยันจึงรวบรวมมาให้แล้ว กับ “แมลงศัตรูพืชในนาข้าว 3 ระยะ” ที่มักเจอบ่อย ๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบจัดการ ส่งผลเสียต่อข้าวมหาศาลแน่!! เพราะฉะนั้น เรามารู้ทัน รีบกำจัดกันดีกว่า!!

 

◾️แมลงศัตรูระยะแตกกอ

 

#เพลี้ยไฟ (Rice Thrips)

การทำลาย เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะทำลายข้าวโดยการกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าวที่ยังอ่อนโดยอาศัยตามซอกใบที่ถูกทำลาย ปลายใบที่ถูกทำลายจะเหี่ยว ขอบใบจะม้วนเข้าหากลางใบและอาศัยอยู่ที่ใบม้วนนั้น ซึ่งใบข้าวที่ถูกทำลายส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวเองได้ถ้าการระบาดไม่รุนแรง หากพบการระบาดที่รุนแรงจะส่งผลให้ต้นข้าวแห้งตายได้ทั้งแปลง

 

การระบาด พบการทำลายข้าวในระยะกล้าหรือหลังปักดำ 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะในอากาศร้อนแห้งแล้งหรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกันหรือสภาวะที่นาข้าวขาดน้ำเป็นเวลานาน

 

การป้องกันกำจัด

1. ควรดูแลข้าวระยะกล้าหรือหลังหว่าน 7 วันอย่าให้ขาดน้ำ

2. ปล่อยน้ำท่วมยอดข้าวทิ้งไว้ 1-2 วัน เมื่อพบเพลี้ยไฟ 1-3 ตัวต่อต้น

3. เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟตัวเต็มวัยใช้สารกำจัดแมลง เช่น

▪️ มาลาไธออน 83% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

▪️ เซฟวิน 85% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  

 

#หนอนกระทู้กล้า (Rice Seedling armyworm)

การทำลาย หนอนชนิดนี้เข้าทำลายกัดกินกล้าข้าวทำให้เกิดความเสียหาย ในระยะแรกจะกัดกินผิวใบ เมื่อโตขึ้นจึงเริ่มกัดกินใบข้าวทั้งใบเหลือไว้แต่ก้านใบ และจะกัดกินลำต้นกล้าระดับพื้นดิน โดยความเสียหายทั้งหมดนี้มักเกิดขึ้นในเวลารวดเร็วภายใน 1-2 วันเท่านั้น

 

การระบาด ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และปกติหนอนจะกัดกินข้าวในเวลากลางคืน

 

การป้องกันกำจัด

1. ทำลายกลุ่มไข่ของผีเสื้อ

2. เมื่อเกิดหนอนระบาดในแปลงกล้า ให้ปล่อยน้ำเข้าแปลงกล้าจนท่วมยอดข้าว แล้วเก็บหนอนมาทำลาย

3. กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัย

4. ใช้สารกำจัดแมลง เช่น

▪️ ฉีดพ่น มาลาไธออน 53% EC โดยใช้ยา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดหลังปักดำ 15, 30, 45 และ 60 วัน (ใช้น้ำยา 40 ลิตร ต่อเนื้อที่ 1 ไร่)

▪️ ฉีดพ่น ซูมิไธออน 50% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดหลังปักดำ 15, 30, 45, 60 วัน (ใช้น้ำยา 40 ลิตรต่อเนื้อที่ 1 ไร่)

▪️ ฉีดพ่น อะโซดริน 56% W.S.C. อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 

◾️แมลงศัตรูระยะแตกกอ

 

#เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown planthopper)

การทำลาย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำท่ออาหาร ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวกแห้งตายเป็นหย่อม ๆ เรียก "อาการไหม้" นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส โรคใบหงิกมาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียวแคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปกติ ปลายใบบิดเป็นเกลียวและขอบใบแหว่งวิ่น

 

การระบาด ทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ในนาข้าวที่ขาดน้ำ ตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น

 

การป้องกันกำจัด

1. ปลูกข้าวพันธุ์ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น สุพรรณบุรี 1,  สุพรรณบุรี 2, สุพรรณบุรี 90, สุพรรณบุรี 60, ปทุมธานี 1, พิษณุโลก 2, ชัยนาท 1, ชัยนาท 2, กข29 และ กข31 และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก 

2. ในแหล่งที่มีการระบาด และควบคุมระดับน้ำในนาได้ หลังปักดำหรือหว่าน 2-3 สัปดาห์จนถึงระยะตั้งท้อง ควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียกหรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป

3. หมั่นสำรวจตรวจนับเพลี้ยกระโดดสีนํ้าตาลตามโคนกอข้าวอย่างสม่ำเสมอ

4. ใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น บูโพรเฟซินอัตรา 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, สารคาร์โบซัลแฟน อัตรา 110 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, ไทอะมิโทแซม อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 

 

#หนอนกอข้าว (Rice stem borers)

การทำลาย หลังหนอนฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบก่อน ทำให้กาบใบมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ซึ่งจะเห็นเป็นอาการช้ำ ๆ เมื่อฉีกกาบใบดูจะพบตัวหนอน เมื่อหนอนโตขึ้นจะเข้ากัดกินส่วนของลำต้น ทำให้เกิดอาการใบเหี่ยวในระยะแรก ใบและยอดที่ถูกทำลายจะเหลืองในระยะต่อมา ซึ่งการทำลายในระยะข้าวแตกกอนี้ทำให้เกิดอาการ “ยอดเหี่ยว” (deadheart) ถ้าหนอนเข้าทำลายในระยะข้าวตั้งท้องหรือหลังจากข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดข้าวลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาวเรียกอาการนี้ว่า “ข้าวหัวหงอก” (whitehead)

 

การระบาด พบระบาดที่แปลงข้าวที่มีการใส่ปุ๋ยอัตราสูง หรือที่มีดินอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะใต้ร่มเงาต้นไม้รอบแปลงนา

 

การป้องกันกำจัด

1. ไขน้ำท่วมและไถดินเพื่อทำลายหนอนและดักแด้ของหนอนกอข้าวที่อยู่ตามตอซัง

2. ปลูกพืชอื่นเพื่อตัดวงจรชีวิตของหนอนกอข้าว ปลูกพืชหมุนเวียน

3. ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ทำให้ใบข้าวงามหนอนกอชอบวางไข่

4. ใช้แสงไฟล่อตัวเต็มวัยและทำลาย เมื่อมีการระบาดรุนแรง

5. ไม่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ดในนาข้าว เพื่อช่วยให้ศัตรูธรรมชาติพวกแตนเบียนไข่และแตนเบียนหนอนของหนอนกอข้าว สามารถควบคุมประชากรหนอนกอข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. เมื่อพบอาการข้าวยอดเหี่ยวในระยะข้าวอายุ 3-4 สัปดาห์หลังหว่าน/ปักดำในระดับ 10-15% ให้ใช้สารชนิดพ่นน้ำ เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วแปลงเพียงครั้งเดียว

 

#หนอนห่อใบข้าว (Rice leaffolder)

การทำลาย ตัวหนอนจะแทะผิวใบข้าวส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นแถบยาวสีขาว มีผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง หนอนจะใช้ใยเหนียวที่สกัดจากปาก ดึงขอบใบข้าวทั้งสองด้านเข้าหากันเพื่อห่อหุ้มตัวหนอนไว้หนอนจะทำลายใบข้าว ทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าวถ้าหนอนมีปริมาณมากจะใช้ใบข้าวหลาย ๆ ใบมาห่อหุ้มและกัดกินอยู่ภายใน โดยสังเกตใบข้าวห่อหุ้มตัวหนอนมีลักษณะคล้ายหลอด ซึ่งปกติจะพบตัวหนอนเพียงตัวเดียวในใบห่อนั้น ในระยะข้าวออกรวงหนอนจะทำลายใบธงซึ่งมีผลต่อผลผลิตเพราะทำให้ข้าวมีเมล็ดลีบ น้ำหนักลดลง

 

การระบาด ระบาดมากช่วงฤดูฝน ในขณะที่ข้าวเข้าสู่ระยะแตกกอ

 

การป้องกันกำจัด

1. การระบาดของหนอนห่อใบข้าวจะรุนแรงในแปลงที่มีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง ๆ จึงควรแบ่งใส่ปุ๋ยหลายครั้ง และลดปริมาณลง หรือควรงดการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ๆ ในขณะที่เริ่มพบการระบาดของหนอนห่อใบข้าว 

2. ต้นข้าวที่อยู่บริเวณร่มเงาของต้นไม้จะถูกทำลายมากกว่าบริเวณอื่น และควรมีการกำจัดวัชพืชบริเวณรอบแปลง เพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ของหนอนห่อใบข้าวในพืชอาศัย 

3. ควรฉีดพ่นสารเคมีเมื่อพบการทำลายใบมากกว่า 15% สารเคมีที่ใช้คือ เบนซัลแทป อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโปรนิล อัตรา 50 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

◾️แมลงศัตรูระยะออกรวง

 

#แมลงสิง หรือ #แมลงฉง (Rice bug, Stink bug)

การทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าว ระยะเป็นน้ำนม แต่ก็สามารถดูดกินเมล็ดข้าวทั้งเมล็ดอ่อนและเมล็ดแข็ง โดยตัวเต็มวัยจะทำความเสียหายมากกว่า เพราะดูดกินเป็นเวลานานกว่าทำให้เมล็ดลีบ หรือเมล็ดไม่สมบูรณ์และผลผลิตข้าวลดลง การดูดกินของแมลงสิงไม่ทำให้เป็นรูบนเปลือกของเมล็ดเหมือนมวนชนิดอื่น โดยปากจะเจาะผ่านช่องว่างระหว่างเปลือกเล็กและเปลือกใหญ่ของเมล็ดข้าว ความเสียหายจากการทำลายของแมลงสิงทำให้ข้าวเสียคุณภาพมากกว่าทำให้น้ำหนักเมล็ดลดลง โดยเมล็ดข้าวที่ถูกแมลงสิงทำลาย เมื่อนำไปสีจะแตกหักง่าย

 

การระบาด พบมากในนาน้ำฝนและข้าวไร่ สภาพที่เหมาะต่อการระบาดคือ นาข้าวที่อยู่ใกล้ชายป่า มีวัชพืชมากมายใกล้นาข้าว และมีการปลูกข้าวเหลื่อมเวลากัน

 

การป้องกันกำจัด

1. กำจัดวัชพืชในนาข้าว คันนาและรอบ ๆ แปลง

2. ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยในนาข้าวที่พบระบาดและนำมาทำลาย 

3. ตัวเต็มวัยชอบกินเนื้อเน่า นำเนื้อเน่าแขวนไว้ตามนาข้าว และจับมาทำลาย

4. หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวต่อเนื่องเพื่อลดการแพร่ขยายพันธุ์

5. ใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน 20% EC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อแมลงสิงมากกว่า 4 ตัวต่อตารางเมตร ในระยะข้าวเป็นน้ำนม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : องค์ความรู้เรื่องข้าว กรมการข้าว

 

สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

 

#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #นิยมทั่วไทย #พันธุ์ข้าว #พันธุ์ข้าวนาปรัง #ข้าวหอมมะลิ105 #ข้าวกข43 #วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวให้ได้ผลผลิตสูง #วิธีการใส่ปุ๋ยข้าว3ครั้ง #การใส่ปุ๋ยข้าว #ปุ๋ยใส่ข้าว #ปุ๋ยข้าว #ข้าวตั้งท้องใส่ปุ๋ยสูตรไหน #ศัตรูในนาข้าว #แมลงในนาข้าว #เพลี้ยไฟ #หนอนกระทู้กล้า #เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล #หนอนกอข้าว #หนอนห่อใบข้าว #แมลงสิง #แมลงฉง