น้องปุ๋ยขยันเตือนภัย พี่น้องชาวไร่ข้าวโพดทุกท่าน ช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ ลองสำรวจข้าวโพดดี ๆ ว่ามีเจ้า “หนอนเจาะฝักข้าวโพด” อยู่รึเปล่า หากพบแม่ผีเสื้อวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามเส้นไหมที่ปลายฝักข้าวโพด นั่นแหละครับตัวการ!! ทำให้ข้าวโพดระยะออกดอก-ติดฝัก ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ ฝักไม่ติดเมล็ด!!
เพื่อไม่ให้ผลผลิตของพี่น้องชาวไร่ข้าวโพดต้องเสียหาย น้องปุ๋ยขยันมีวิธีป้องกันและกำจัดเจ้าหนอนเจาะฝักข้าวโพดมาฝาก ใครอยากรู้แล้วตามมาดูกันเลยครับ!!
#ลักษณะตัวหนอน
ลำตัวของตัวหนอน จะมีขนขึ้นประปราย ลายพาดยาวบริเวณลำตัวซึ่งเห็นได้ชัดเจน ตัวหนอนมีสีเหลือง สีเขียวอ่อน ไปจนถึงสีค่อนข้างดำ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอายุ การลอกคราบ ในระยะตัวหนอนมักจะอยู่รวมกัน แต่เมื่อโตขึ้นจะไม่อยู่ใกล้กันเพราะจะกัดกินกันเอง ขนาดของหนอนโตเต็มที่ จะมีความยาว 35-40 มม. กว้าง 3 มม. มีสีแตกต่างกันหลายสี เช่น เหลือง น้ำตาล ชมพู ขาวนวล เขียว ดำ และเทา เป็นต้น และมีแถบสีดำใหญ่ขนาด 0.5-1.0 มม. พาดตามความยาวด้านข้างข้างละเส้น รูหายใจรูปวงแหวนสีดำอยู่ด้านข้างทั้ง 2 ข้างของทุกปล้อง ส่วนหัวมีสีเหลืองน้ำตาล โดยหนอนจะเข้าดักแด้ในตอนกลางคืน เมื่อเข้าดักแด้ใหม่จะมีสีเขียว ตัวนิ่มแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาล ผิวแข็งแรงขึ้นและเป็นสีน้ำตาลก่อนจะออกเป็นตัวเต็มวัย โดยตัวเต็มวัยหรือผีเสื้อจะซ่อนตัวอยู่ตามซอกใบ แม่ผีเสื้อตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 1,100 ฟอง ระยะไข่ 2-5 วัน
#ลักษณะการเข้าทำลาย
แม่ผีเสื้อวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามเส้นไหมที่ปลายฝักข้าวโพด หรือที่ช่อดอกตัวผู้ หนอนกัดกินที่ช่อดอก และเมื่อเริ่มติดฝัก ตัวหนอนจะกัดกินเส้นไหมของฝัก และเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในบริเวณปลายฝัก ทำความเสียหายให้แก่คุณภาพฝักโดยตรง เนื่องจากปลายฝักเสียหาย และถ้าพบระบาดมากปลายฝักจะเน่า เนื่องจากความชื้นจากมูลของหนอนที่ถ่ายไว้ หนอนเจาะฝักข้าวโพดทำความเสียหายได้มากเมื่อเกิดการระบาดก่อนที่กระบวนการผสมเกสรจะเกิดขึ้น หากการระบาดรุนแรงจะเก็บผลผลิตไม่ได้ เนื่องจากหนอนกัดกินเส้นไหมจนแหว่งหมดไป หรือตัวหนอนกัดกินช่อดอก ส่งผลต่อช่อดอกไม่สามารถคลี่บานได้ ส่งผลให้ข้าวโพดไม่ได้รับการผสมเกสร ฝักที่ได้จึงไม่ติดเมล็ดอย่างสมบูรณ์ ก่อให้เกิดเป็นข้าวโพดฟันหลอขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตลดน้อยลง
#การแพร่ระบาด
จะพบแมลงชนิดนี้อยู่ทั่วไปที่มีการปลูกฝ้าย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ยาสูบ มะเขือเทศ และถั่วต่าง ๆ เพราะเป็นแมลงที่สามารถกินอาหารได้หลายอย่าง สำหรับข้าวโพดจะพบการระบาดตั้งแต่ข้าวโพดเริ่มออกดอกเกสรตัวผู้และระบาดจำนวนมากในระยะที่ข้าวโพดเริ่มออกฝักหรือออกฝักแล้ว ระยะที่ทำอันตรายข้าวโพดได้มากคือระยะที่ฝักอ่อน
#แนวทางการป้องกันและกำจัด
1. วิธีกล ข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก ใช้วิธีการจับหนอนที่ปลายฝักทิ้ง หรือใช้มือบีบปลายฝักให้หนอนตายโดยไม่ต้องเก็บทิ้ง และควรเดินเก็บหนอนทุกวันในระยะติดฝัก
2. เนื่องจากผีเสื้อของหนอนเจาะฝักข้าวโพดจะวางไข่ที่ยอดเกสรตัวผู้ และที่ไหมข้าวโพดในระยะผสมเกสร จึงควรหมั่นตรวจปลายฝักข้าวโพดในระยะนี้ หากพบหนอนวัย 1-2 เฉลี่ย 10-20 ตัวต่อ 100 ต้น พ่นสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะฝักที่หนอนลงทำลายไหม พ่นซ้ำตามความจำเป็น โดยพ่นที่ปลายฝักบริเวณไหมโผล่ หากพบการระบาดมากจึงพ่นที่เกสรตัวผู้ส่วนบนสุด
***สารฆ่าแมลงควรใช้ในระยะที่หนอนยังเล็กจะได้ผลดี
ที่มา : เตือนภัยการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #ปุ๋ยข้าวโพด #ปลูกข้าวโพด #ข้าวโพด #เครื่องหยอดข้าวโพด #ข้าวโพดหวาน #ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ #พันธุ์ข้าวโพด #หนอนเจาะฝักข้าวโพด