ช่วงนี้ทุเรียนหลาย ๆ สวนต่างกำลังอยู่ในช่วงให้ผลผลิต แถมตอนนี้ก็เข้าสู่หน้าฝนแบบเต็มที่เลย ถือว่าน่าห่วงมาก ๆ เพราะฝนมาทีไรมักไม่มาตัวเปล่า แต่มักพาโรคและแมลงศัตรูพืชบุกเข้ามาทำลายผลผลิตทุเรียนทุกที!! เพื่อไม่ให้ผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรต้องเสียหาย น้องปุ๋ยขยันมีเทคนิคการป้องกัน และกำจัดมาฝากครับ!
◼️ โรคราดำ (Sooty Mold)
#เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Meliola durionis Hans S.
#สาเหตุ เนื่องจากแมลงพวกเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง หรือเพลี้ยไก่แจ้ มีการขับถ่ายสารเหนียว ๆ ลงบนผล เชื้อราจะใช้สารเหนียวนี้เป็นอาหาร และเจริญเติบโตบนผิวผลทุเรียน มองเห็นเป็นปื้นสีดำปกคลุมทั่วทั้งผลทุเรียน
#อาการที่พบ ผลทุเรียนมีสีดำปกคลุมทั่วผล มีสาเหตุมาจากเชื้อราเจริญบนผิวของผลทุเรียน โดยราที่ปกคลุมที่ส่วนผิวนอกส่งผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง และราดำปกคลุมที่ผิวทำให้ผลทุเรียนไม่สะอาด ราคารับซื้อตกต่ำ
#ช่วงเวลาการระบาด มักพบราดำในต้นทุเรียนที่มีทรงพุ่มทึบ ไม่โปร่ง ความชื้นสูง พบการระบาดของโรคช่วงฤดูฝน เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม
#การป้องกันและรักษา
1. ป้องกันหรือควบคุมการเข้าทำลายของแมลงพวกเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง หรือเพลี้ยไก่แจ้ ด้วยสารสกัดสมุนไพรหรือสารกำจัดแมลง เช่น ไวท์ออยผสมมาลาไธออน
2. พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์
3. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง
◼️ โรคผลเน่า (Fruit rot)
#เชื้อสาเหตุ Phytophthora palmivora (Butler) Butler
#อาการที่พบ พบการเข้าทำลายผลทุเรียนได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อนจนกระทั่งแก่ โดยเฉพาะเป็นโรครุนแรงเมื่อผลใกล้แก่ อาการเริ่มแรกจะพบจุดช้ำสีน้ำตาลอ่อนที่ผลโดยเฉพาะที่บริเวณก้นผล ต่อมาแผลจะค่อย ๆ ขยายใหญ่เป็นวงกลมหรือค่อนข้างรี แผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มมักพบความรุนแรงของโรคผลในช่วง 1 เดือน ก่อนเก็บเกี่ยวและในระหว่างบ่มผลให้สุกหรือขนส่งเพื่อจำหน่าย
#ช่วงเวลาการระบาด เชื้อราสาเหตุโรคเป็นเชื้อราชนิดเดียวกับโรครากเน่าโคนเน่า พบระบาดมากในช่วงที่ฝนตกชุก เนื่องจากมีความชื้นสูง เชื้อจากดินสามารถเข้าทำลายผลได้เมื่อเก็บผลทุเรียนแล้ววางบนพื้นดิน
#การป้องกันและรักษา
1. ควรทำความสะอาดแปลงปลูกเช่นเดียวกับการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน หากพบผลที่เน่าเป็นโรคให้ทำการตัดผลทุเรียนที่เป็นโรคและเก็บผลทุเรียนเน่าที่ร่วงหล่นใต้ต้นนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสมในแปลง
2. การเก็บผลทุเรียนควรวางในตะกร้าหรือภาชนะบรรจุ ไม่ควรวางกองบนพื้นดินเพื่อหลีกเลี่ยงผลทุเรียนสัมผัสพื้นดิน
3. จุ่มผลในสารเคมี เช่น ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ผึ่งให้แห้ง ก่อนบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ หรือขนส่งไปจำหน่าย
4. การขนย้ายควรป้องกันการเกิดแผลบนผลที่อาจเกิดจากหนาม หรือสาเหตุอื่น
5. หมั่นตรวจผลทุเรียนในแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงผลใกล้เก็บเกี่ยว หากพบอาการของโรคบนต้น ควรทำการฉีดพ่นสารเคมี เช่น เมตาแลกซิล 25 %WP หรือ เมตาแลกซิลผสมแมนโคเซบ หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80%WP ให้ทั่วทั้งต้น
◼️ หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Durian seed borer)
ชื่ออื่น : หนอนใต้ หนอนรู หนอนมาเลย์ สาเหตุจากผีเสื้อกลางคืน ในวงศ์ Noctuidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mudaria luteileprosa Holloway
#อาการที่พบ โดยหนอนผีเสื้อวางไข่ที่ร่องหนามของผลทุเรียน เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่ จะเจาะเข้าทำลายผลทุเรียนที่ยังอ่อน เมื่อเข้าทำลายผลทุเรียนจะไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอกได้ เนื่องจากผลทุเรียนที่โตขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นมากลบรอยแผลที่หนอนเจาะ หนอนจะเข้าไปกัดกินเนื้อของเมล็ด และจะถ่ายมูลออกมาปะปนอยู่กับเนื้อทุเรียนทำให้เนื้อทุเรียนเสียคุณภาพ และพบว่าเป็นปัญหาอย่างมากกับการส่งออกทุเรียนไปขายยังต่างประเทศ เพราะไม่สามารถตรวจสอบการเข้าทำลายของหนอนชนิดนี้ได้เมื่อสังเกตจากภายนอก
#ช่วงเวลาการระบาด ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่ทุเรียนติดผลอ่อน
#การป้องกันและกำจัด
1. ไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรแช่เมล็ดด้วยสารฆ่าแมลง เช่น มาลาไทออน (Malathion 83 83% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล (Sevin 85 85% WP) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
2. ห่อผลโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นขนาด 40x75 เซนติเมตร เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ำสามารถป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไปจนถึงเก็บเกี่ยว
3. ป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสานโดยการพ่นสารฆ่าแมลง cypermethrin/ phosalone (Parzon 6.25%/ 22.5% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ และห่อด้วยถุงพลาสติกขาวขุ่น ขนาด 40x75 เซนติเมตร เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ำเมื่อผลอายุ 10 สัปดาห์
4. ใช้กับดักแสงไฟ black light เป็นเครื่องมือตรวจการระบาดของผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพื่อให้ทราบว่ามีการระบาดในช่วงไหน สามารถช่วยให้การใช้สารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารฆ่าแมลง เมื่อพบตัวเต็มวัยเริ่มระบาดให้ใช้สารเคมีพ่นห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ ดังนี้
▪️ carbaryl (Sevin 85 85% WP) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
▪️ deltamethrin (Decis 3 3% EC) อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
▪️ lambdacyhalothrin (Karate Zeon 2.5 2.5% CS) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
▪️ betacyfluthrin (Folitec 025 2.5% EC) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
▪️ cypermethrin/ phosalone (Parzon 6.25%/22.5% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
6. การป้องกันตัวหนอนผีเสื้อโดยไม่ใช้สารเคมี โดยฉีดพ่นสารที่มีกลิ่น เช่น สารสะเดา หรือ น้ำส้มควันไม้ เพื่อเป็นการไล่ตัวผีเสื้อไม่ให้เข้ามาวางไข่
◼️ เพลี้ยไฟพริก (Chilli thrips)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scirtothrips dorsalis Hood
#อาการที่พบ ในทุเรียนพบเพลี้ยไฟหลายชนิดทำลายในระยะพัฒนาการต่าง ๆ แต่ที่พบมากและสำคัญที่สุด คือเพลี้ยไฟพริก (Scirtothrips dorsalis Hood) ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของพืชมีผลทำให้ใบอ่อน หรือยอดอ่อนชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ใบโค้ง แห้งหงิกงอ และไหม้ การทำลายในช่วงดอกทำให้ดอกแห้ง ดอกและก้านดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แคระแกร็น และร่วงได้ และในช่วงผลอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หนามเป็นแผล และเกิดอาการปลายหนามแห้ง ผลไม่สมบูรณ์ และแคระแกร็น เพลี้ยไฟจะระบาดรุนแรงในช่วงแล้ง ระหว่างเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ซึ่งตรงกับระยะที่ต้นทุเรียนออกดอกติดผล ทำให้เพลี้ยไฟมีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์สามารถเพิ่มปริมาณได้มาก
#ช่วงเวลาการระบาด พบได้ตลอดทั้งปี โดยเพลี้ยไฟพริกจะเข้าทำลายทุเรียนช่วงแตกยอดอ่อน จนถึงติดผลอ่อน
#การป้องกันและกำจัด
1. หากพบเพลี้ยไฟระบาดเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้ง
2. เมื่อพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรง ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่
▪️ imidacloprid (Confidor 100 10% SL) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
▪️ fipronil (Ascend 5% SC) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
▪️ carbosulfan (Posse 20% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
▪️ ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำติดต่อกันหลายครั้งเพราะทำให้เพลี้ยไฟสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #นิยมทั่วไทย #ปุ๋ยทุเรียน #วิธีปลูกทุเรียน #วิธีการปลูกทุเรียน #พันธุ์ทุเรียน #การใส่ปุ๋ย #ทุเรียน #การใส่ปุ๋ยทุเรียนช่วงติดผล #วิธีปลูกทุเรียนหมอนทองให้โตเร็ว #สูตรปุ๋ยเร่งต้นทุเรียน #วิธีปลูกทุเรียนให้รอด #ทุเรียนนกกระจิบ #ทุเรียนมูซังคิง #ทุเรียนก้านยาว #โรคในทุเรียน #ศัตรูพืชในทุเรียน #โรคราดำ #โรคผลเน่า #หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน #เพลี้ยไฟพริก