สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง กับมือใหม่ก็เช่นกัน… ไม่ว่าจะวงการไหน ๆ ถ้าเรายังไม่เคยทำสิ่งนั้นหรือคลุกคลีมาก่อนก็เป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จได้ในครั้งแรกใช่มั้ยล่ะครับ
กับเรื่องการทำเกษตรก็เช่นกัน ดูผิวเผินเหมือนจะง่าย แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่ามีความยากซ่อนอยู่เพียบ ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ คนที่นำเงินก้อนสุดท้ายไปลงทุนทำการเกษตร แล้วสุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะขาดการศึกษาและวางแผนที่ดีก่อนเริ่มลงมือทำ
เพื่อไม่ให้ความฝันของพี่น้องมือใหม่ที่อยากทำเกษตร ต้องสลายไปกลางทาง เพราะเกิดข้อผิดพลาด หรือหมดกำลังใจท้อแท้ วันนี้น้องปุ๋ยขยันจะมาบอกต่อกับ “10 ข้ออย่าหาทำ ก่อนเริ่มทำการเกษตร” ว่าแล้วตามมาดูกันเลยครับ!
1.ไม่มีการตั้งเป้าหมายเพื่อทำเกษตร
การตั้งเป้าหมายก่อนว่าจะทำเกษตรไปเพื่ออะไรจะทำให้สามารถกำหนดรูปแบบการทำเกษตร ระยะเวลา แรงงานที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อให้การลงทุนนั้นมีความคุ้มค่ามากที่สุดไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
2.ไม่มีรูปแบบการทำเกษตรที่เหมาะกับตัวเอง
เวลาและวัยเป็นตัวกำหนดรูปแบบการทำเกษตรได้เช่นกัน ผู้ที่ทำเกษตรตั้งแต่อายุยังน้อยสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่า แม้ทำผิดพลาดก็ยังมีโอกาสปรับเปลี่ยนหรือหาช่องทางใหม่ ๆ ในการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งยังมีกำลังในการลงมือทำมากกว่า สำหรับผู้ที่ทำเกษตรในวัยที่อายุมากอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการจัดการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน เครื่องมือที่นำมาใช้ รูปแบบการทำเกษตรยังควรเลือกให้เหมาะสมกับความสนใจหรือความถนัดจะทำให้รู้สึกสนุกกับการทำเกษตรและสนใจค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาการผลิต
3.ไม่วางแผนการใช้ที่ดิน
การวางผังสวนจะช่วยให้วางแผนการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้คุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอันดับแรกต้องรู้จักพื้นที่ของตนเองว่าเหมาะในการทำเกษตรแบบไหน เช่น ปลูกพืชไร่ ทำสวนผัก สวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไรบ้าง ทั้งใกล้แหล่งวัตถุดิบ อยู่ใกล้โรงงานแปรรูปหรือส่งออก มีปัญหาดินเค็ม น้ำแล้ง เป็นต้น เพื่อให้วางแผนผลิตสินค้าได้เหมาะสม
4.ไม่รู้จักดินในพื้นที่
การเตรียมพื้นที่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการทำเกษตรแบบเพาะปลูก ก่อนอื่นควรตรวจสอบสภาพดินในพื้นที่ว่ามีลักษณะอย่างไร หากเป็นดินเดิมที่มีในพื้นที่ เหมาะสำหรับปลูกพืชประเภทไหน หากเป็นดินที่นำมาถมใหม่ ดินนั้น ๆ มีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง หรือมีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถปรับปรุงดินได้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอคำปรึกษาได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน >> http://dinonline.ldd.go.th/
5.ขาดแหล่งน้ำ
น้ำคือหัวใจสำคัญในการทำเกษตร หากพื้นที่เกษตรนั้น ๆ มีแหล่งน้ำเดิมหรืออยู่ติดกับแหล่งน้ำที่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ ถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เจ้าของที่ดินได้อย่างมหาศาล แต่หากเป็นพื้นที่บุกเบิกใหม่ที่ไม่มีแหล่งน้ำอาจจำเป็นต้องขุดบ่อน้ำเพื่อใช้กักเก็บน้ำ ขนาดบ่อให้คำนวณจากปริมาณใช้น้ำตลอดปี หรือทำบ่อบาดาลก็ได้เช่นกัน
6.ไม่วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
การวางแผนปลูกพืชหรือผลิตสินค้าเกษตรใด ๆ ก็ตาม ควรมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อให้ผลิตสินค้ามาแล้วมีแหล่งซื้อสินค้ารองรับ สำหรับผู้เริ่มต้นที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญควรเริ่มจากเล็ก ๆ ทดลองทำจนชำนาญแล้วจึงขยับขยาย หรืออาจจะทำเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีรายได้หลากหลายช่องทาง หากสินค้าใดราคาตกหรือเกิดโรคแมลงระบาดก็ยังมีสินค้าตัวอื่นไปต่อได้ เมื่อเริ่มเข้าใจตลาดและมองเห็นความเป็นไปได้จึงเพิ่มและลดสัดส่วนการผลิตตามความเหมาะสม
7.ขาดแรงงาน… ควรมีเครื่องทุ่นแรงมาช่วย
การทำเกษตรต้องใช้แรงงานในการลงมือลงแรงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต้องการ การทำเกษตรที่ต้องพึ่งพาแรงงานเพียงอย่างเดียวจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนเกิดความท้อถอยและล้มเลิกทำเกษตรอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าในปัจจุบันแรงงานจะเป็นสิ่งที่หายากแต่ก็นับว่ามีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นเพราะสามารถนำเครื่องทุ่นแรงและเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยลดการใช้แรงงาน
8.ไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบจะทำให้มองเห็นภาพรวมว่าต้นทุนหรือรายจ่ายไปจมกับส่วนใด เพราะบางครั้งอาจจะพบว่ารายได้จากการขายผลผลิตเข้ามาก็จริง แต่ไม่ได้นำต้นทุนมาคิดคำนวณไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิต ต้นทุนแฝงอื่น ๆ เช่น มีการซื้อเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาแต่ไม่มีการนำมาคิดเป็นต้นทุน รวมทั้งค่าน้ำมันรถในการขนส่ง ค่าไฟฟ้าวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลืองต่าง ๆ นอกจากนี้ยังควรจัดการให้มีการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้หลาย ๆ รูปแบบทั้งรายได้ระยะสั้น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี
9.หลงเชื่อคำโฆษณา
การทำเกษตรโดยหลงเชื่อคำชักชวน ลงทุนปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ตาม ๆ กันเพราะเห็นว่าผู้อื่นปลูกได้ดีมีกำไรคืออีกปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการทำเกษตรได้ ต้องไม่ลืมว่าการปลูกตาม ๆ กันอาจเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด และราคาตกต่ำได้ หรือกรณีที่ถูกหลอกให้ซื้อต้นพันธุ์พืชโดยสัญญาว่าจะให้ราคาพิเศษ แต่เมื่อผลผลิตเก็บเกี่ยวได้แล้วกลับไม่มีผู้รับซื้อ เป็นต้น
10.ไม่ทำการตลาด ขาดการสร้างเครือข่ายธุรกิจเกษตร
ก่อนผลิตพืชใดก็ตามควรศึกษาตลาดว่าผู้ซื้อสินค้าของเราเป็นคนกลุ่มใด เช่น ลูกค้าทั่วไป ลูกค้าเฉพาะกลุ่มในออนไลน์ ปลูกเพื่อส่งบริษัทส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรสร้างเครือข่ายผู้ที่ทำการเกษตรรูปแบบเดียวกันเพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคนิคการปลูก ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถรวมกลุ่มเพื่อต่อรองราคาให้เหมาะสมได้อีกด้วย
ที่มา : หนังสือ Garden & Farm Vol.17 เตรียมเกษียณไปทำเกษตร
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #นิยมทั่วไทย