น้องปุ๋ยขยันขอแชร์ เตือนภัย!!..โรคใบจุดสีม่วง

ปุ๋ยขยันเตือนภัย!! #โรคใบจุดสีม่วง ช่วงนี้อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า + อากาศร้อนในตอนกลางวัน พี่น้องเกษตรกรคนไหนที่ปลูกหอมแดง, หอมหัวใหญ่, หอมแบ่ง, กระเทียม ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษนะครับ เพราะอาจโดนโรคใบจุดสีม่วงเข้าทำลายผลผลิตได้!!
เพื่อให้พี่ ๆ รู้ก่อนแก้ไขทัน น้องปุ๋ยขยันมีวิธีรับมือ “โรคใบจุดสีม่วง” มาฝากด้วยล่ะครับ ถ้าพร้อมแล้วเรามาดูกันเลย!!
โรคใบจุดสีม่วง (Purple Blotch Disease)
- เกิดจาก : เชื้อรา Alternaria porri
- อาการ มักพบอาการของโรคบนใบ เริ่มแรกเป็นจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็ก เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นจุดแผลสีขาว กว้าง 2-3 มิลลิเมตร ต่อมาแผลขยายเป็นวงกว้างตามความยาวของใบ ทำให้เกิดแผลรูปไข่ สีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมม่วง เนื้อเยื่อรอบขอบแผลสีเหลือง แผลอาจขยายใหญ่กว้างถึง 2 เซนติเมตร และยาวถึง 7 เซนติเมตร ราสร้างสปอร์บนแผลปรากฏเห็นเป็นผงละเอียดสีดำกระจายทั่วแผล (ภาพ ก และ ข) ถ้าอาการโรครุนแรงแผลขยายเชื่อมติดกันเป็นแผลขนาดใหญ่ทำให้ใบหักพับหรือใบแห้ง ต้นที่เป็นโรครุนแรงใบจะแห้งตาย เชื้อราสามารถเข้าทำลายก้านดอก โคนต้น และหัวได้ ทำให้หัวมีขนาดเล็กหรือไม่ลงหัว เชื้อราที่ติดไปกับหัวจะทำให้หัวเน่าเสียในระหว่างการเก็บรักษา มักพบโรคนี้ระบาดในระยะที่หอมโตแล้วหรือช่วงปลายฤดูปลูก อาการจะรุนแรงมากขึ้นถ้ามีเพลี้ยไฟเข้าทำลายซ้ำบางครั้งอาจพบเชื้อราอื่น เช่น Stemphylium vesicarium เข้าทำลายซ้ำบนแผลเดียวกัน
วงจรการเกิดโรค
เมื่อส่วนขยายพันธุ์หรือสปอร์ของเชื้อรา Alternaria porri ตกลงบนพืช และสิ่งแวดล้อมเหมาะสมสปอร์ จะงอกเส้นใยแทงทะลุผ่านผิวพืชเข้าไปภายในเนื้อเยื่อพืชโดยตรง หรืออาจเข้าทางรอยแผล อาการจะเกิดภายใน 1-4 วัน หลังเชื้อสาเหตุเข้าทำลาย เมื่อเข้าทำลายพืชและเจริญเติบโตเต็มที่แล้วราสาเหตุจะสร้างสปอร์บริเวณแผล เพื่อขยายพันธุ์และแพร่กระจายต่อไป
การแพร่ระบาด
เมื่อสปอร์แก่จะหลุดและปลิวแพร่กระจายไปตามลม น้ำ แมลง หัวพันธุ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ โดยเชื้อราเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 6-34 องศาเซลเซียส เข้าทำลายใบพืชได้ดีที่อุณหภูมิ 22-25 องศาเซลเซียส สร้างสปอร์ได้ดีที่ความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อยู่ข้ามฤดูบนเศษซากพืชในดิน จนเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม และมีพืชอาศัยจึงเข้าทำลายพืชและสร้างสปอร์เพื่อแพร่กระจายต่อไป

ที่มาของภาพ: กรมวิชาการเกษตร
แผลโรคใบจุดสีม่วงบนต้นหอม (ก และ ข) ลักษณะสปอร์ของเชื้อรา Alternaria porri สาเหตุโรคใบจุดสีม่วง (ค)
- ก่อนปลูกควรปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมกับการปลูกหอมและกระเทียม โดยการใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์
- ใช้หัวพันธุ์ที่ปราศจากโรค โดยแช่หัวพันธุ์ หรือต้นกล้าก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดฟีโนโคนาโซล 25% EC อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรไดโอน 50% WP อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 15-20 นาที
- ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดฟีโนโคนาโซล 25% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรไดโอน 50% WP อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรคลอราซ 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ชนิดใดชนิดหนึ่ง หากโรคยังคงระบาดควรพ่นซ้ำ ทุก 5-7 วัน แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง แล้วสลับพ่นด้วย แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค
- เก็บซากพืชที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
- ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่สกุลหอมกระเทียมสลับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : เตือนภัยการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร ช่วงวันที่ 26/01/2565 ถึง 08/02/2565 https://at.doa.go.th/ew/index.php : กรมวิชาการเกษตร attachment.php (doa.go.th)
สอบถามราคาสถานที่จัดจำหน่าย และ ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #นิยมทั่วไทย #หอมแดง #หอมหัวใหญ่ #หอมแบ่ง #กระเทียม #โรคใบจุดสีม่วง