ยืนหนึ่งในวงการผลไม้ก็ต้อง “ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้” ใช่มั้ยล่ะครับ เพราะถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของบ้านเรา เพราะนอกจากจะเป็นที่นิยมบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีการผลผลิตส่งไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่การจะปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิตดีทั้งลูก ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุเรียนเป็นพืชที่มักมีปัญหาศัตรูพืชและโรคหลายชนิดเข้าทำลาย และต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี
ดังนั้น!! น้องปุ๋ยขยันขอพาพี่ ๆ ไปรู้จักกับโรคในทุเรียนที่มักพบบ่อย ๆ ในช่วงระยะทำใบและสะสมอาหารก่อนออกดอก เพื่อให้สามารถรับมือและป้องกัน ลดการสูญเสียผลผลิตที่อาจทำให้พี่น้องชาวสวนทุเรียนขาดทุนกันได้ ไปดูกันเลยครับ!
โรครากเน่าและโคนเน่า (Root rot and Foot rot)
สาเหตุ : เชื้อราไฟทอฟธอรา (Phytophthora palmovora)
อาการ :
- ที่ราก รากฝอยแสดงอาการเน่ามีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล ถ้ารุนแรงโรคจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย
- ที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น ผิวเปลือกของลำต้นหรือกิ่งคล้ายมีคราบน้ำเกาะติด หรือเห็นเป็นหยดสีน้ำตาลแดงเยิ้มออกมาจากบริเวณแผล เมื่อใช้มีดถากจะพบเนื้อเยื่อเปลือกหรือเนื้อเยื่อไม้เป็นน้ำตาล
- ที่ใบ แสดงอาการเหี่ยว สีเหลือง บริเวณแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำสีน้ำตาลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตายนึ่งคล้ายน้ำร้อนลวก เกิดอาการไม้แห้งคาต้น และค่อย ๆ ร่วงไป
การป้องกันกำจัด
1. ถากส่วนที่เป็นโรคออกให้หมดจนถึงเนื้อไม้แล้วเผาทำลาย
2. ถากเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นโรคออกบาง ๆ แล้วทาด้วยสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น เมตาแลกซิล ฟอสเอสเอทธิล อลูมินั่ม อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
3. อัดฉีดเข้าลำต้นด้วยสารฟอสฟอรัสแอซิด (phosphorous acid) โดยผสมกับน้ำสะอาด อัตรา 1 ต่อ 1
4. ลดปริมาณเชื้อราในดินโดยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือเศษซากพืชคลุมดินเพื่อส่งเสริมให้จุลินทรีย์ หลายชนิดเพิ่มปริมาณ
โรคใบติดหรือใบไหม้ (Rhizoctonia Leaf Fall/ Leaf Blight)
สาเหตุ : เชื้อราไรซอกโทเนีย (Rhizoctonia solani)
อาการ : ใบจะมีลักษณะคล้ายโดนน้ำร้อนลวก และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถ้ามีความชื้นสูงเชื้อราจะสร้างเส้นใยคล้ายใยแมงมุมยึดติดกัน โรคจะลุกลามทำให้เห็นใบไหม้เป็นหย่อมๆแห้งติดกันเป็นกระจุกแขวนค้างตามกิ่ง ต่อมาใบจะร่วงเหลือแต่กิ่ง และกิ่งแห้งในที่สุด
การป้องกันกำจัด
1. ตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้เหมาะสม โดยให้มีความชื้นในปริมาณที่ต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้ดี และมีความชื้นในทรงพุ่มไม่เหมาะต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค
2. ในช่วงทุเรียนแตกใบอ่อนควรหมั่นสำรวจอาการของโรค หากพบโรคควรตัดกิ่งที่เป็นโรคออก นำไปเผานอกแปลงปลูก และพ่นด้วยสารกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แมนโคแซบ อัตรา 10-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
3. เก็บและรวบรวมเศษใบเป็นโรคที่ร่วงหล่นอยู่บริเวณโคนต้น แล้วนำไปเผาทำลายเพื่อลดปริมาณ เชื้อโรคในแปลงปลูกให้น้อยลง
โรคราสีชมพู (Pink Disease)
สาเหตุ : เชื้อราคอร์ทีเซียม (Corticium salmonicolor)
อาการ : ใบเหลืองร่วงเป็นหย่อม ๆ คล้ายอาการกิ่งแห้ง หรือโคนเน่า แต่หากสังเกตตามกิ่งด้านในของทรงพุ่มจะเห็นเส้นใยของเชื้อราสีขาวปกคลุม โคนกิ่งที่แสดงอาการ เมื่อเชื้อเจริญลุกลามและมีอายุมากขึ้น เส้นใยขาวจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู เมื่อถากกิ่งจะพบเนื้อไม้แห้งเป็นสีน้ำตาล
การป้องกันกำจัด
1. หมั่นตรวจหาลักษณะอาการของโรคในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ
2. เมื่อพบเชื้อราเริ่มเข้าทำลายตามกิ่ง ควรใช้มีดขูดเปลือกกิ่งออกบาง ๆ หรือตัดทิ้งเผาทำลาย แล้วทาด้วย สารเคมี เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร รอบ ๆ กิ่ง
3. ควรทำการตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียนให้มีทรงพุ่มโปร่งพอสมควร เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้
โรคใบจุดสนิม หรือโรคใบจุดสาหร่าย (Algal Leaf Spot)
สาเหตุ : สาหร่ายสีเขียว (Cephaleuros virescense)
อาการ : พบจุดฟูสีเขียวแกมเหลืองของสาหร่าย ขอบของจุดเหล่านี้จะไม่เรียบ และมีลักษณะเป็นแฉก ๆ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม จุดจะขยายใหญ่ และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้มหรือสีสนิม
การป้องกันกำจัด
1. ตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้เหมาะสม เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวกและลดความชื้นภายในแปลง
2. หากพบการระบาดมากฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิชาการเกษตร
ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq
#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #นิยมทั่วไทย
#ปุ๋ยทุเรียน #วิธีปลูกทุเรียน #วิธีการปลูกทุเรียน #พันธุ์ทุเรียน #การใส่ปุ๋ยทุเรียน #การใส่ปุ๋ยทุเรียนช่วงติดผล #วิธีปลูกทุเรียนหมอนทองให้โตเร็ว #สูตรปุ๋ยเร่งต้นทุเรียน #วิธีปลูกทุเรียนให้รอด #ทุเรียนนกกระจิบ #ทุเรียนมูซังคิง #ทุเรียนก้านยาว #โรคในทุเรียน