อากาศชื้นพึงระวัง!! โรคเปลือกเน่า-โรคเส้นดำ ในยางพารา มาป้องกัน จัดการให้อยู่หมัด!!

อากาศชื้นพึงระวัง!! โรคเปลือกเน่า-โรคเส้นดำ ในยางพารา มาป้องกัน จัดการให้อยู่หมัด!!


ประกาศ ๆๆ พี่น้องชาวสวนยาง!! ช่วงที่มีฝนตกอากาศชื้น พึงระวัง!!! โรคเปลือกเน่า-โรคเส้นดำในยางพารากันด้วยนะครับ

 

เพราะช่วงที่มีฝนตก และอากาศในแปลงยางชื้น อาจทำให้เกิดโรคเปลือกเน่าและโรคเส้นดำในยางพาราได้นะครับ... ฉะนั้น!! เพื่อไม่ให้หน้ายางเสียหาย ผลผลิตลด กำไรหด เรามาเตรียมพร้อมป้องกัน จัดการให้อยู่หมัดด้วยวิธีต่อไปนี้กันดีกว่าครับ!!

 

#โรคเปลือกเน่า (Mouldy Rot)

สาเหตุการเกิดโรค : เกิดจากเชื้อรา Ceratocystis fimbriata

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด : เกิดเฉพาะบนหน้ากรีดเท่านั้น อาการในระยะแรก เปลือกบริเวณเหนือรอยกรีดมีลักษณะฉ่ำน้ำเป็นรอยช้ำสีหม่น ต่อมากลายเป็นรอยบุ๋ม ปรากฏเส้นใยของเชื้อราสีขาวเทาขึ้นปกคลุมบริเวณรอยแผล เมื่ออาการรุนแรงขึ้น เชื้อราจะขยายลุกลามเป็นแถบขนานกับรอยกรีดอย่างรวดเร็ว ทำให้เปลือกบริเวณดังกล่าวเน่า หลุดเป็นแอ่ง เหลือแต่เนื้อไม้สีดำและไม่สามารถกรีดซ้ำหน้าเดิมได้อีก เมื่อเฉือนเปลือกบริเวณข้างเคียงรอยแผล จะไม่พบอาการเน่าลุกลามออกไปแต่อย่างใด

#การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืชในสวนยาง เพื่อให้สวนยางโปร่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก และลดความชื้นในแปลง เนื่องจากโรคมักเกิดในแปลงที่มีความชื้นสูง
  2. พบโรคเปลือกเน่า ควรหยุดกรีดยาง 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อแพร่ไปติดต้นอื่น จากเสื้อผ้าของคนกรีด ภาชนะที่ใส่น้ำยาง และมีดกรีดยาง
  3. โรคนี้สามารถติดไปยังต้นอื่นได้ด้วยลมและแมลง หากพบมอดหรือแมลงชนิดอื่นเจาะเปลือกยางที่เป็นโรคนี้ให้ใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อกำจัดแมลง
  4. ใช้สารไธอาเบนดาโซล อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ผสมสารแผ่กระจายและจับติด 2 ซีซี หรือสาร ออกซาดิกซิล แมนโคเซ็บ อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ผสมสารแผ่กระจายและจับติด 2 ซีซี ทาหน้ากรีดยางทุก 7 วัน 3-4 ครั้ง หรือทาซ้ำจนกว่าโรคจะหาย

 

#โรคเส้นดำ (Black stripe)

สาเหตุการเกิดโรค : เกิดจากเชื้อรา Phytophthora  botryosa และ P. palmivora

ลักษณะอาการของโรคที่เกิด : เกิดเหนือรอยกรีดเป็นรอยช้ำ และต่อมาเป็นลักษณะมีรอยบุ๋มสีดำหรือสีน้ำตาลดำตามแนวยาวของลำต้น เมื่อเฉือนเปลือกบริเวณรอยบุ๋มสีดำ จะเห็นลายเส้นสีดำบนเนื้อไม้และอาจลุกลามลงไปใต้รอยกรีด ถ้าอาการรุนแรงเปลือกบริเวณที่เป็นโรคจะปริและเน่า มีน้ำยางไหล เปลือกที่เน่าจะหลุดออกมาและมีรอยเส้นดำขยายและลุกลามลงใต้รอยกรีด ถ้าเชื้อเข้าทำลายไม่รุนแรงเปลือกที่งอกใหม่จะเป็นปุ่มปม

#การป้องกันและกำจัด

  1. ตัดแต่งกิ่งยางและกำจัดวัชพืชในสวนยางให้โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ควรปลูกพืชอาศัยที่ก่อให้เกิดเชื้อราเป็นพืชแซมยาง
  2. หลีกเลี่ยงการเปิดกรีดยางในระหว่างฤดูฝน หากเป็นช่วงที่มีฝน อย่ากรีดลึกจนถึงเนื้อไม้ เพราะจะทำให้หน้ายางเสียหายและเชื้อเข้าทำลายได้ง่าย
  3. ระยะที่มีโรคใบร่วงระบาด ควรทาหน้ายางด้วยสารเคมีชนิดเดียวกับที่ใช้รักษา
  4. เมื่อพบหน้ากรีดยางเริ่มแสดงอาการ ให้ใช้สารเมทาแลกซิล อัตรา 7-14 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารออกซาเดียซิล แมนโคเซบ อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ผสมสารแผ่กระจายจำนวน 2 ซีซี ใช้สารอย่างใดอย่างหนึ่งทาหน้ากรีดยางทุก 7 วัน 3-4 ครั้ง จะสามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ หากฝนตกชุกติดต่อกันควรหมั่นทาสารเคมีต่อไปอีกจนกว่าโรคจะหาย
     

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และ ยาง&ปาล์ม ออนไลน์

 

ติดตามราคาพืชผลก่อนใครทาง LINE คลิกเลย! https://lin.ee/rNYeQyq

 

#ปุ๋ยตรามงกุฎ #ปุ๋ยขยันเต็มแรง #ปุ๋ยขยันทำงานทุกเม็ด #นิยมทั่วไทย #กรีดยางพารา #ราคาน้ำยางพารา #น้ำยางพารา #สูตรปุ๋ยใส่ยางพาราเปิดกรีดแล้ว #ปุ๋ยยาง #ปุ๋ยยางพารา #ปุ๋ยใส่ยางพารา #ปุ๋ยใส่ยาง #วิธีกรีดยางพารา #โรคเปลือกเน่ายางพารา #โรคเส้นดำยางพารา